ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ระบุท่าทีการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ต่อการยกย่องให้คนวงการมวย มีฐานะเทียบเท่า” ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะมวยไทย ถือเป็นผลดี ต่องานด้านมวยไทย ทั้งการอนุรักษ์ เผยแพร่ศิลปะ
บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การที่กระทรวงวัฒนธรรม สนองตอบต่อการผลักดันของคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันให้มีการเชิดชูบุคคลในวงการมวย ให้มีตำแหน่งเป็น“ศิลปินแห่งชาติ ” สาขาศิลปะมวยไทย การสนับสนุนเรื่องนี้ จากกระทรวงวัฒนธรรม จะเป็นขวัญกำลังใจ และสร้างแรงจูงใจ ในการสืบสาน เผยแพร่ศิลปะของชาติผ่านมวยไทย
ทั้งนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้แจ้งให้คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ทราบว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬาฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลในวงการมวยไทย ให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2553 มาตรา 28 (3) และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559มาตรม 4 (6)
กระบวนการจากนี้คือ มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคลในวงการมวย โดยขอให้ปรับเพิ่มสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนกีฬา (กองทุนกีฬามวย) เช่นเดียวกับศิลปินแห่งชาติอื่นๆ สำหรับที่มาในการเชิดชูบุคคลในวงการมวยไทย ให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะมวยไทย
เกิดขึ้นจากมติที่ประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร , ผู้แทนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ,การกีฬาแห่งประเทศไทย , สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ ผู้แทนสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
” การดำเนินการที่เกิดขึ้นได้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจขององค์กรกีฬา ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร อันจะนำไปสู่การสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคคลในวงการกีฬามวย รวมถึงจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ในการที่จะก้าวไปสู่ความฝันที่อยากจะเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะมวยไทย ดังเช่นบุคคลที่เป็นตัวอย่างทางด้านการกีฬามวยที่ได้รับการยกย่อง”
เขา กล่าวว่า สำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 มาตรา 4 กำหนดว่า มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรักษาตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วย (6) การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งมวยไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นกิจกรรมการเล่นกีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมาตั้งแต่แรก
ขณะเดียวกันศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว “มวยไทย” ยังเป็นกิจกรรมเชิดชูเกียรติของประเทศไทยมาตลอด มีบทบาททั้งในสงครามป้องกันอาณาจักร และบทบาททางการกีฬาที่มีกติกาชัดเจน สามารถยกฐานะเป็นกีฬาเพื่อท่องเที่ยว เพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยชาติ ตลอดทั้งเป็นกิจกรรมการกีฬาแห่งประชาคมโลก ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้การรับรองเป็นชนิดกีฬาในโปรแกรมโอลิมปิกในอนาคต