ราชกิจจานุเบกษา เผยประกาศกรมปศุสัตว์ แนวทางนำ “กัญชง-กัญชา” มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ย้ำ ห้ามนำส่วนยอด ช่อดอก หรือเมล็ด มาใช้
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง แนวทางการนำกัญชง กัญชา มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มีเนื้อหาระบุว่า
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพืชกัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน จึงยกเว้นส่วนต่างๆ ของกัญชง กัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อันเป็นประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ จะต้องมีคุณประโยชน์และความปลอดภัยต่อสัตว์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง แนวทางการนำกัญชง กัญชา มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ พ.ศ. 2565”
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“อาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ” หมายความว่า อาหารสัตว์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
“กัญชง” หมายความว่า พืชกัญชง หรือที่มีชื่อเรียกว่า เฮมพ์ (Hemp) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. subsp. Sativa เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
“กัญชา” หมายความว่า พืชกัญชา (Cannabis) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis indica Lam. หรือ Cannabis sativ L. เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
“ส่วนของกัญชง กัญชา” หมายความว่า วัตถุหรือสารที่ได้จากกัญชง กัญชา เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5
“สารสกัดของกัญชง กัญชา” หมายความว่า สารที่ได้จากการสกัดจากส่วนของกัญชง กัญชา เฉพาะส่วนที่ได้รับการยกเว้นจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
“ห้องปฏิบัติการ” หมายความว่า ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO/EC 17025 ในขอบข่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสารในกัญชง กัญชา
ข้อ 4 ในการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ พิจารณาก่อนออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ดังนี้
(ก) ห้ามนำส่วนของยอด ช่อดอก หรือเมล็ด ของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดจากยอด ช่อดอก หรือเมล็ด ของกัญชง กัญชา มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ
(ข) การนำส่วนของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชง กัญชา ที่นอกเหนือจาก ข้อ ๔ (ก) มาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะได้ ต้องมีผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการประกอบการพิจารณา โดยผลวิเคราะห์ต้องตรวจไม่พบปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) และสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) ในส่วนของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชง กัญชา ดังกล่าว เว้นแต่มีหลักฐานทางวิชาการ งานวิจัยที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบุว่าปริมาณที่ตรวจพบ เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะแล้ว มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อสัตว์นั้นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ ปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ในส่วนของกัญชง กัญชา รวมถึงสารสกัดของกัญชง กัญชา ต้องไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
การนำงานวิชาการ งานวิจัย มาใช้เป็นหลักฐานตามข้อ 4 (ข) ต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการที่กรมปศุสัตว์แต่งตั้ง
(ค) ส่วนของกัญชง กัญชา หรือสารสกัด ของกัญชง กัญชา ตามข้อ 4 (ข) ต้องมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตผลิต โดยพืชกัญชง กัญชา ต้องปลูกภายในประเทศเท่านั้น.