- โศกนาฎกรรม “กราดยิงหนองบัวลำภู” กระทบกับคะแนนเสียง รัฐบาลบิ๊กตู่ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสู่การเลือกตั้งโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง กับคำถามระบบ ทหาร-ตำรวจ
- ฟันธง! ไม่มีผล สั่นสะเทือน เร่งปฏิกริยา ให้เกิด “ยุบสภา”เพื่อไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ ให้เร็วขึ้น โอกาสลากยาว ไปจนสุดอายุ รัฐบาล มี.ค.66 เป็นไปได้!
- ชี้ชัด กระแสปรับ ครม.หากรัฐบาลต้องมีการปรับกันจริง ก็แค่ “ปรับเล็ก” ยัน ไม่ควรปรับใหญ่ ไม่งั้นคือฆ่าตัวตายทางการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้ “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ช่วงนี้เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเรื่องสุดสะเทือนขวัญ และแสนเศร้าใจ ไม่ใช่แค่เฉพาะประชาชนชาวไทยทั้งประเทศเท่านั้น แต่ดังไกลไปทั่วทั้งโลก กับกรณี สังหารหมู่ กราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู
ทั้งนี้ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวผู้สูญเสีย ที่มีเหยื่อต้องสังเวย ไปถึง 37 ศพ โดยผู้ที่ลงมือเป็นอดีตนายตำรวจ ที่มีประวัติพัวพันกับยาเสพติด
เรื่องดังกล่าว “สั่นสะเทือน” ไปในทุกวงการ แน่นอนว่า วงการเมืองก็ไม่เว้น เมื่อเกิดกระแสสุดร้อนแรงไปที่ผู้รับผิดชอบอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่เพิ่งได้กลับเข้ามาเป็นนายกฯ หลังศาล รธน.มีมติ 6 ต่อ 3 ให้ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ จนถึงปี 2568
กรณี “กราดยิงหนองบัวลำภู” ยังถูกตั้งคำถามกันอย่างกว้างขวาง ถึงข้อกังขาในความไม่เอาจริงเอาจัง การปราบปรามยาเสพติดที่ผ่านมา ของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง จนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญสุดสลดนี้
แน่นอน หากมองในมุมการเมือง ย่อมส่งผลสะเทือนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมไปถึงองคาพยพของอำนาจ 3 ป.โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
ยิ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงปีสุดท้ายก่อนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 4 ปี แล้วต้องไปเลือกตั้งใหม่ คะแนนเสียงของประชาชนจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ให้เกียรติสัมภาษณ์ ไขข้อข้องใจ โดยเฉพาะ ปม “กราดยิงหนองบัวลำภู” นี้ ส่งผลต่อแรงสั่นสะเทือนคะแนนรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน อาจเลยเถิดไปถึง ยุบสภา ปรับ ครม. หรือนายกฯ ลาออกหรือไม่
โศกนาฎกรรม “กราดยิงหนองบัวลำภู” กระทบกับคะแนนเสียง รัฐบาลบิ๊กตู่ ช่วงโค้งสุดท้ายไหม?
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ ว่ากระทบคะแนนเสียงรัฐบาล แน่นอน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลซึ่งอยู่ในอำนาจรัฐ ก็คงปฏิเสธได้ยากกับกรณีที่เกิดขึ้น ประเด็นแรกเลย มีการตั้งคำถามในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ความรุนแรงเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็เป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ๆ ทั้งนั้น แล้วการป้องกัน การแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงของระบบก็ยังไม่เห็น ก็เลยเกิดการตั้งคำถาม ต่อประสิทธิภาพของรัฐบาล
ที่ผ่านมา จะเห็นได้นับตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปี นับตั้งแต่ คสช. เช่น กรณี
ปี 2558 ก็มี “ระเบิดที่ราชประสงค์” ในเวลานั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 20 ราย
พอมาปี 2562 ก็มีเหตุ “เรือฟีนิกซ์ล่ม” ตอนนั้นมีผู้เสียชีวิต 47 ราย
พอมาปี 2563 มี “กราดยิงที่โคราช” มีผู้เสียชีวิต 31 ราย
ปี 2565 ไฟไหม้ “ผับเมาน์เท่น บี” มีผู้เสียชีวิต 24 ราย
ล่าสุด “กราดยิงสังหารหมู่หนองบัวลำภู” มีผู้เสียชีวิต 38 ราย
สิ่งเหล่านี้ถูกตั้งคำถาม จากข้อมูลสถิติสะท้อนภาพปัญหาในเชิงระบบหลายอย่าง ก็ไม่ถูกแก้ไข แล้วส่วนสำคัญที่ คสช.เข้ามา ก็พูดถึงเรื่องการปฏิรูป มันก็ถูกตั้งคำถามว่า มันเกิดขึ้นได้จริงไหม สิ่งเหล่านี้รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว
แล้วประการที่ 2 ผู้ก่อเหตุ ก็เป็นอดีตตำรวจ วันนี้มันก็เลยถูกตั้งคำถามเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วองค์กรตำรวจ มีปัญหาเชิงระบบด้วยไหม แม้กระทั่งการคัดสรรบุคลากรต่างๆ ประการที่ 3 คือ มีความเกี่ยวข้องเรื่องยาเสพติด ก็ทำให้มีการหยิบยก มาเปรียบเทียบนโยบายกับรัฐบาลสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตรงนี้ก็อาจส่งผลกระทบถึงการตั้งคำถาม ถึงประสิทธิภาพต่อรัฐบาลด้วย
“ซึ่งเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่า จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลยิ่งลำบากในช่วงใกล้เลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านี้มีเรื่องเศรษฐกิจที่ถูกตั้งคำถามอยู่ด้วย แล้วมีเรื่องสังคมเข้ามาอีก ก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเลยในการเลือกตั้ง” ดร.ยุทธพร กล่าว….
เหตุ “กราดยิงหนองบัวลำภู” มองว่า เป็นโอกาสเร่งให้เกิด “ยุบสภา” เร็วขึ้นได้ไหม?
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า อันนี้คงไม่นะครับ ผมคิดว่า วันนี้ยังไง รัฐบาลก็ต้องพยายามตรึงสถานการณ์ ให้ผ่านพ้นการประชุม “เอเปก” ไป เพราะหากก่อน “เอเปก” เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ไม่ว่าอะไร “ยุบสภา”- “นายกฯ ลาออก” มันจะเป็นภาพที่ไม่ดีต่อประเทศไทยในการประชุมเอเปก ฉะนั้นรัฐบาลก็จะพยายามดึงให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป แล้วประเด็นเหล่านี้ในเชิงโครงสร้าง แม้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่ท้ายสุดอาจถูกทำให้มองเป็นประเด็นเกี่ยวกับตัวบุคคล เป็นเรื่องยาเสพติด-เรื่องครอบครัวของผู้ก่อเหตุไป ส่วนตัวมองว่า ประเด็นยุบสภา หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องหลังประชุมเอเปกเป็นต้นไป
“ยุบสภา” รัฐบาลมีโอกาส ลากไปสุดทางถึงเดือน มี.ค. 2566 เลยไหม?
ก็มีความเป็นไปได้ลากไปยุบสภาหลัง มี.ค. แต่หลังเอเปกมีโอกาสเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการยุบสภาน่าจะเกิดได้ตั้งแต่ ธ.ค.-ม.ค.-ก.พ.และไปจนถึง มี.ค. 2566 และก็เป็นไปได้ด้วยที่จะไปยุบสภาเดือนมี.ค.เพื่อให้เกิดการยืดออกไปอีก เพราะถ้ายุบสภาการเลือกตั้งกำหนดไว้ 45-60 วัน ตามไทม์ไลน์ กกต.เขาคิดครบวาระในกรณี 45 วัน แต่ถ้าใกล้ มี.ค.ยุบสภาก็จะยืดออกไปได้อีก ก็เป็นไปได้ไปยุบสภาม.ค.เลยก็เป็นไปได้
แล้วกระแส รัฐบาลจะมีการปรับ ครม.ล่ะ?
ผมว่า ยากนะครับ ปรับ ครม. ถ้าเกิดขึ้น ก็คงเป็นการปรับทดแทนตำแหน่งที่ว่างของแต่ละพรรคเท่านั้น อย่าง พรรค ปชป.ก็ทดแทน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เท่านั้น หรือพรรคภูมิใจไทย ก็ปรับครม.ในส่วนที่ขาดไป อย่าง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ.แต่ถ้าจะปรับในเชิงยุทธศาสตร์ ผมว่า “ยาก”
ประการแรก คือ อำนาจ คสช.หรือ 3 ป. เขาคุมในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างพล.อ.ประยุทธ์ คุมยุทธศาสตร์ความมั่นคง เขาดูมา 8 ปี แล้ว พล.อ.อนุพงษ์ ก็ดูกลไกระบบราชการก็ 8 ปี เท่านายกฯ เลยแล้ว พล.อ.ประวิตร ก็ดูงานด้านการเมือง ซึ่งก็มาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.ด้วยตัวเอง ฉะนั้น ตรงนี้เขาคุมยุทธศาสตร์ทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำอะไรให้เกิดความเคลื่อนไหว หรือทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพรัฐบาล เพราะถ้าปรับ ครม.พรรคร่วมฯ จะเคลื่อนไหว กลุ่ม พปชร.ก็เคลื่อนไหว มันไม่จำเป็นต้องไปทำให้เกิดปัญหาในช่วงท้ายวาระรัฐบาล
อีกอย่าง วันนี้เครื่องไม้เครื่องมือ คือ กฎหมายงบประมาณ และการแต่งตั้งข้าราชการ ทั้งทหาร และพลเรือน ก็ผ่านพ้นไปหมดแล้ว ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับ ครม.เชิงยุทธศาสตร์เลย แต่ถ้าจะปรับ ครม.ก็คงปรับเพื่อทดแทนตำแหน่งโควตาพรรคเท่านั้น อย่างมากที่สุดก็แค่นั้น
มั่นใจ ปรับ ครม.เชื่อถ้ารัฐบาลจะปรับจริง ก็แค่ปรับเล็ก ไม่ปรับเชิงยุทธศาสตร์ โยก 2 ป.ตามที่มีข่าวลือแน่
“อย่าลืม ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ อยู่กระทรวงมหาดไทย มา 8 ปี กว่า เท่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นั่นละ ทำให้รู้จักกระทรวงมหาดไทย ดีที่สุดใน 3 ป. แล้ววางโครงสร้างตรงนี้ไว้ ดังนั้น คนที่จะเข้าใจโครงสร้าง แล้วมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อโครงสร้างนี้ได้ดีที่สุด คือ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร แล้วตอนนี้เวลาเหลือไม่ถึง 6 เดือน สภาผู้แทนราษฎร จะครบวาระ ถ้าพล.อ.ประวิตร เข้าไปคงทำอะไรมากไม่ได้ ทางกลับกัน จะเกิดแรงกระเพื่อมในมหาดไทยไหม แล้วการจะใช้บุคลากร ก็คงไม่เท่ากับ พล.อ.อนุพงษ์ ที่อยู่มากว่า 8 ปีกว่า เขามีคนของเขา วางฐานแล้วสายสัมพันธ์ยาวนานกว่า พล.อ.ประวิตร มันก็คงไม่มีประโยชน์ ที่จะให้พล.อ.ประวิตรไปดูแลแทน แล้วเวลาตอนนี้ก็ไม่ถึง 6 เดือนแล้วด้วย ประวิตรก็ดูแลฝ่ายการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ ก็ขับเคลื่อนกลไกมหาดไทยเพื่อดูแลการเลือกตั้งไม่ดีกว่าหรือ
ฟันธง! หากมีปรับ ครม.ใหญ่จริง ก็เหมือนรัฐบาล “ฆ่าตัวตาย” ทางการเมือง
หากจะทำอย่างที่ว่า โยก พล.อ.ประวิตรไปอยู่มหาดไทย เอา พล.อ.อนุพงษ์ ออก ก็เหมือนการฆ่าตัวตายทางการเมือง ของอำนาจ 3 ป. เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง ซึ่งเขามีเสถียรภาพทางการเมืองอยู่แล้วเขาจะไปฆ่าตัวตายทำไม ฉะนั้นที่บอกจะปรับครม.อย่างมากก็คือทดแทนตำแหน่งที่ว่างเท่านั้นเอง
ชี้ชัด ปชป.จุดกระแส ปรับครม.เพียงแก้ปัญหาภายในพรรค ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาล
“พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เขาจุดกระแสขึ้นมา เพราะ ปชป.เขาก็อยากได้ เหตุตำแหน่งคุณนิพนธ์ บุญญามณี คือ รมช.มหาดไทย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องการเลือกตั้ง แล้ววันนี้ปชป.เองก็มีปัญหาเรื่องการเมืองภายในพรรค ฉะนั้นเขาก็ต้องตอบแทนแต่ละกลุ่มในพรรคให้มันลงตัว แต่นั่นคือปัญหาปชป. ไม่ใช่ของรัฐบาลในภาพใหญ่ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ และ 2 ป. จะเห็นคล้อยตามด้วยไหมว่า ถ้าปรับใหญ่แล้วทำให้กระทบ ผมว่า เขาก็ไม่เห็นด้วยหรอก อย่างมากเขาก็เติมให้ในส่วนที่ขาดเท่านั้นเอง” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย
งานนี้ คงรอดู…ไปทีละขั้น จนถึงวันประกาศยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ของ “รัฐบาลบิ๊กตู่” จากนี้ไป ก็คงไม่นานเกินรอแล้ว ยกเว้นอย่างเดียว จะไม่มีการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างที่พรรคฝ่ายค้าน หรือกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล พยายามดักทางล่วงหน้าไว้
ผู้เขียน : เดชจิวยี่
กราฟิก:Anon Chantanant