ศบค.สุดห่วงคนไทยการ์ดตกช่วงตรุษจีน กำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะสถานประกอบการต้องเข้มงวด “โควิดฟรีเซตติ้ง” หลังยัง พบคลัสเตอร์ผุดไปทั่วประเทศสารพัดรูปแบบ ทั้งพิธีทางศาสนา ตลาด สถานบันเทิง รวมถึงค่ายทหาร สถานพยาบาล และค่ายมวย ด้านกรมอนามัยย้ำเกณฑ์ กักตัวที่บ้าน (HI) ถ้าไม่มีไข้ ค่าออกซิเจนในเลือด ไม่ต่ำ รักษาตัวที่บ้านได้ แต่ให้เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงวัย-ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ยังพบเสียชีวิตต่อเนื่องทุกวัน ขณะที่กรมวิทย์แจงไทยเจอแล้วโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย 2 ตัว ด้าน “หมอประสิทธิ์” ให้จับตา “อินเดีย” จ่อติดเชื้อขาขึ้นสวนทางแอฟริกา หวั่นซ้ำรอยเดลตาผลุบเข้าไทย ส่วนญี่ปุ่นเผยผลวิจัย “โอมิครอน” อยู่บนพื้นผิวพลาสติกได้นานกว่า 8 วัน แต่แอลกอฮอล์เข้มข้นสกัดได้ใน 15 วินาที
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของไทยในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.ก็ยังไม่วางใจ เมื่อใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีนในปลาย ม.ค.ถึงต้น ก.พ.นี้
ติดเชื้อใหม่ลดต่ำ 7 พันคน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 25 ม.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,718 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,497 คน จากเรือนจำ 69 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 152 คน จาก 32 ประเทศ โดยประเทศต้นทางที่พบผู้ติดเชื้อมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย 52 คน ตามด้วยคาซัคสถานและสหรัฐอเมริกา 15 คนเท่ากัน ส่วนเมื่อแยกเป็นระบบเข้าประเทศพบว่าระบบเทสต์แอนด์โกพบติดเชื้อ 30 คน แซนด์บ็อกซ์ 107 คน และควอรันทีน 15 คน
กทม.-ปริมณฑลโควิดยังพุ่ง
เมื่อดูเป็นรายจังหวัด พบผู้ติดเชื้อในทุกจังหวัด โดย 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็น กทม.1,269 คน ตามด้วยสมุทรปราการ 556 คน นนทบุรี 441 คน ภูเก็ต 354 คน ชลบุรี 314 คน ขอนแก่น 247 คน ปทุมธานี 228 คน เลย 152 คน นครราชสีมา 144 คน และศรีสะเกษ 118 คน เมื่อดูเป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ติดเชื้อเกินร้อยคนถึง 6 จังหวัด ซึ่งรวมถึงอุดรธานี 118 คน และอุบลราชธานี 114 คน ขณะที่ภาคเหนือ มีเชียงใหม่ พบ 107 คน ภาคใต้ นอกจาก จ.ภูเก็ต แล้วมี จ.นครศรีธรรมราช 107 คน และสุราษฎร์ธานี 109 คน ภาคกลาง นอกจาก กทม.และปริมณฑล ยังมี จ.ลพบุรี 110 คน
สูงวัย-ป่วยโรคเรื้อรังตายต่อเนื่อง
ส่วนผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 7,659 คน อยู่ระหว่างรักษา 81,532 คน อาการหนัก 548 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 คน เสียชีวิตเพิ่ม 12 คน เป็นคนไทย 11 คน อังกฤษ 1 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือมีโรคเรื้อรัง ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,391,357 คน มียอดหายป่วยสะสม 2,287,768 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,057 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. มีการฉีดเพิ่มเติม 288,356 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 112,759,859 โดส
เจอคลัสเตอร์กระจายไปทั่ว
พญ.สุมนีกล่าวว่า พบคลัสเตอร์ในหลายแห่ง โดยคลัสเตอร์โรงงาน สถานประกอบการ พบที่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย คลัสเตอร์พิธีกรรมศาสนาพบที่ จ.อุดรธานี ขอนแก่น น่าน ศรีสะเกษ คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.ขอนแก่น มุกดาหาร คลัสเตอร์สถานบันเทิงพบที่ จ.ร้อยเอ็ด อุดรธานี คลัสเตอร์ค่ายทหารพบที่ จ.ลพบุรี มุกดาหาร คลัสเตอร์สถานพยาบาลพบที่ กทม. นนทบุรี อุบลราชธานี ชลบุรี สมุทรปราการ จึงขอให้ทุกภาคส่วนเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล
ค่ายมวยย่านบางกอกน้อยการ์ดตก
พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กห่วงใยการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่ กทม. จึงส่งทีมสำรวจ โดยวันที่ 20 ม.ค.พบคลัสเตอร์ค่ายมวยที่เขตบางกอกน้อย ปัจจัยเสี่ยงมีการทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น นวม กระสอบทรายและไม่มีการวางเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ อีกทั้งทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกันน้อย จึงขอให้ทุกกิจกรรม กิจการ ระมัดระวังป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ตัวเอง
ตรุษจีนต้องเข้มโควิดฟรีเซตติ้ง
พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า ในวันที่ 28 ม.ค.-3 ก.พ.นี้ จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ศบค.มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงว่า จะมีการรวมตัวกันของญาติพี่น้อง มีการเดินทางเพื่อจับจ่ายซื้อของทั้งในซุปเปอร์มาร์เกตและตลาด ไปร้านอาหารเพื่อสังสรรค์กันภายในครอบครัว รวมถึงการไหว้เจ้าขอพรตามศาลเจ้าต่างๆ แต่ละกิจกรรมมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก หากพื้นที่แออัด อากาศปิด เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ขอให้เน้นย้ำมาตรการโควิดฟรีเซตติ้งอย่างเคร่งครัด และป้องกันการแออัดของจำนวนคน สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร แต่ละพื้นที่ควรตั้งขวดแอลกอฮอล์ เนื่องจาก ศบค.เป็นห่วงไม่อยากให้เกิดคลัสเตอร์ตรุษจีนขึ้นมา ขอให้ประชาชนเข้มงวดมาตรการ หากใครได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะข้อมูลชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนทุกสูตรสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ร้อยละ 90-100
ขายเหล้าผิดกฎให้ยึดใบอนุญาต
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตาม ช่วงสัปดาห์แรกที่ ศบค.อนุมัติให้ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเละพื้นที่สีส้ม 25 จังหวัด จนถึงเวลา 23.00 น. และต้องเข้มมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง พร้อมกำชับตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ดูแลสถานประกอบการ หากพบร้านไหนขายเหล้าเกินเวลาที่กำหนด ปิดหน้าร้านบังหน้า แอบเปิดหลังร้าน ขอให้เจ้าหน้าที่สอบสวน จับกุม ยึดใบอนุญาต และหากพบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องให้เอาผิดทางวินัย
เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนให้มากสุด
ที่ศูนย์การค้า MBK Center นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังตรวจเยี่ยมศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าขณะนี้เราพยายามฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้เต็มที่ คนที่รับเข็ม 2 แล้ว 3 เดือนขึ้นไปมารับเข็ม 3 ได้เลย โดยจะไล่ไปตามเดือน สธ.พยายามเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และได้รับความร่วมมือที่ดีจากเอกชน เช่น ศูนย์การค้า MBK ที่ยกครึ่งฟลอร์ให้ฉีดผู้ประกอบการใน MBK แรงงาน และคนที่มาซื้อของ ถือว่าเป็นอีกจุดหนึ่ง คล้ายๆ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี จะเริ่มต้นเดือน ก.พ.นี้ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีก่อน และขยายบริการออกมา ส่วนเข็มที่ 4 จะเน้นคนกลุ่มเสี่ยงก่อน ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่จะต้องทำงานคลุกคลีประชาชน กลุ่มเสี่ยง พนักงานขับรถให้บริการสาธารณะ เราอัดเข็ม 4 เต็มที่
ย้ำให้เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง
ต่อมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการดูแลกลุ่มเปราะบางให้ปลอดภัยใน Home Isolation (HI) ว่าปัจจุบันเราวางระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) แต่มีกลุ่มเปราะบางที่ควรดูแลเป็นพิเศษ อย่างผู้สูงอายุแม้ติดเชื้อสัดส่วนไม่สูงมาก ประมาณร้อยละ 6-11 แต่การเสียชีวิตจากโควิด-19 ช่วงปีใหม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เป็นผู้สูงอายุ และร้อยละ 60 มีประวัติเสี่ยงติดจากผู้สัมผัสใกล้ชิด ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์การติดเชื้อหลังปีใหม่ทรงตัว พบการเสียชีวิตเป็นระยะ จึงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบางอย่างสูง เพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนใกล้ชิด แล้วมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป กลุ่มเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน เพราะหากติดเชื้อมีโอกาสอาการรุนแรงสูง
ไข้สูง–ออกซิเจนต่ำให้เข้า รพ.
นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อขอให้ตรวจ ATK ทันที หากผลเป็นลบ ก็ยังให้ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลาต่อเนื่อง หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงให้กักตัวและตรวจ ATK ตามระยะ กรณีผลบวกอย่าตกใจ ตั้งสติ ติดต่อ สปสช. สายด่วน 1330 กด 14 หากมีอาการเล็กน้อย ไม่มีอาการ รับการดูแลรักษาที่บ้าน (HI) หรือในชุมชน (CI) แต่หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วติดขัด ถ้าระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่าร้อยละ 94 จะเข้าเกณฑ์รักษาใน รพ.
25 วันติดเชื้อกว่า 1.6 แสนคน
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงระบาดระลอก ม.ค.2565 (1-25 ม.ค.) ติดเชื้อ 1.6 แสนกว่าคนทั่วประเทศ พบใน กทม.และปริมณฑล เกือบร้อยละ 30 หรือเกือบ 5 หมื่นคน เฉพาะ กทม.รายงานคนเข้า HI กว่า 1.4 หมื่นคน อยู่ระหว่างการรักษาที่บ้าน 5,445 คน หายดีแล้ว 9,015 คน ทั้งนี้ กรณีการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ต้องเข้า HI หากเป็นหญิงตั้งครรภ์เมื่อติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงสามารถแยกกักที่บ้านได้ ดูแลตนเองเหมือนภาวะตั้งครรภ์ปกติ ยกเว้นมีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วนมากๆ หรือไม่เคยฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ว่านอน รพ.หรือไม่ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ต้องรับเข็มกระตุ้น เพราะ 2 เข็มป้องกันโอมิครอนไม่เต็มที่ต้องบูสต์อีกเข็ม ตอนนี้รับเข็มแรกและสองประมาณ 1 แสนกว่าคน รับบูสเตอร์โดส 8,600 คน ทั้งหมดปลอดภัยดี ไม่มีอะไรรุนแรงจากวัคซีน กรณีเด็กเล็กมักไม่ค่อยมีอาการหรืออาการเล็กน้อย ยังรับประทานอาหารดื่มนมตามปกติ ยังไม่น่ากังวล ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ยาลดน้ำมูก ยาผงเกลือแร่ เมื่อท้องเสีย กักตัวที่บ้านได้ แต่ต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลประเมินอาการเด็กตลอดเวลา ส่วนผู้สูงอายุต้องมีอายุไม่มากเกิน 75 ปีขึ้นไป สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด หากมีโรคเรื้อรังไม่ควรกักตัว วิธีการดูแลคล้ายกับกลุ่มอื่น
เจอโอมิครอน BA.2 แล้ว 9 คน
ส่วน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ สามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) และพบสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน คือ BA.1 และ BA.2 แต่ยังไม่พบ BA.3 โดยพบสายพันธุ์ BA.2 รายแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2565 และได้เสนอข้อมูลพร้อมทั้งส่งข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. ขณะนี้ตรวจสอบสายพันธุ์ย่อย BA.2 พบสะสมรวมทั้งหมด 9 ราย ทั้งคนเดินทางมาจากต่างประเทศและติดในประเทศ ลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบ Deletion ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ทั้งนี้ ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 ในประเด็นความสามารถในการแพร่เชื้อ อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน
แอฟริกาเริ่มสงบแต่ที่อื่นยังระบาด
วันเดียวกัน นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล อัปเดตสถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนผ่านระบบออนไลน์เฟซบุ๊กไลฟ์ ม.มหิดล ว่า สถานการณ์การระบาดของโลกเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าโอมิครอน ยังระบาดในพื้นที่ยุโรปและทวีปอเมริกา เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยพบเพิ่มเช่นกัน แต่ทวีปแอฟริกาเริ่มสงบ เพราะคนไข้เพิ่มแต่คนไข้หนัก เสียชีวิตไม่มาก ผ่านจุดสูงสุดแล้ว กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศพบโอมิครอน วันที่ 24 พ.ย.2564 จากเดิมเดลตาทั่วโลกติดเชื้อหลักแสนแตะล้าน แต่เมื่อมีโอมิครอนแพร่กระจายมาก ผู้ป่วยพุ่งทะลุกว่า 2-3 ล้านคนในแต่ละวันของทั่วโลก แต่ตัวเลขการเสียชีวิตน่าสังเกตว่าไม่ได้พุ่งตามการติดเชื้อ และขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 9.9 พันล้านโดส คือประชากรทั่วโลกเกือบ 8 พันล้านคนได้รับวัคซีนแล้ว
ระวังอินเดียขาขึ้นแพร่เข้าไทย
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ทวีปเอเชียอย่างอินเดีย ขณะนี้พบผู้ป่วยวันละ 2-3 แสนคน อยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 400-500 คนต่อวัน การติดเชื้อ ของอินเดียจะวิ่งอยู่ระยะหนึ่ง และจะเลยยอดที่เคยติดเชื้อสมัยเดลตา สิ่งที่ต้องระวังคือการแพร่ระบาดของสายพันธุ์หนึ่งจากอินเดียผ่านมาทางพม่ามาไทย ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เข้ามาประเทศไทยแล้ว ดังนั้นต้องระวังการติดเชื้อจากอินเดียเข้ามาพม่าและเข้ามาไทย ใช้เวลาไม่นาน จึงต้องระวังมากขึ้น สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยคาดปลายเดือน ม.ค.นี้ หรือต้น ก.พ. จะกระจายเป็นโอมิครอนทั่วประเทศ
วัคซีนเข็ม 3 ยังจำเป็น
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า การศึกษาในสัตว์ ทดลอง พบเชื้อโอมิครอนมักก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดเหมือนเดลตา ทำให้อาการความรุนแรงไม่เหมือนกัน การศึกษาจาก วิทยาลัยอิมพีเรียล กรุงลอนดอน พบว่า การจะมีภูมิคุ้มกันลดการติดเชื้อ หรือลดอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ หรือข้อเสนอแนะต้องฉีดทุก 3-6 เดือน การศึกษายังพบ การฉีดแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ป้องกันการติดเชื้อ ที่มีอาการของโอมิครอนได้ผลร้อยละ 0-20 แต่จะเพิ่ม เป็นร้อยละ 55-80 หากฉีดกระตุ้นเข็ม 3 จึงย้ำว่าเข็ม 3 มีความจำเป็น ส่วนเข็ม 4 ยังต้องติดตามสถานการณ์ ไวรัสนี้ต่อไป ยกเว้นบุคลากรเสี่ยงที่ต้องฉีดเข็ม 4
THG ร่วมฉีดไฟเซอร์ 5 หมื่นโดส
ขณะเดียวกัน นพ.ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล กรรมการบริหาร บมจ.ธนบุรี กรุ๊ป (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยถึงการจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 5 หมื่นโดส แยกเป็น 3 หมื่นโดส สำหรับประชาชนฝั่งธนบุรี ตามที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสำนักงานเขตบางกอกน้อยและสำนักงานเขตบางพลัด มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ร่วมขอรับการสนับสนุนจาก THG โดย รพ.ในเครือธนบุรีทั้ง รพ.ธนบุรี รพ. ธนบุรี 2 ร่วมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.-28 ก.พ.เป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งเข็ม 1-3 ให้กับประชาชนชาวบางพลัด บางกอกน้อย ที่ห้องประชุมกันตัง ชั้น 5 สำนักงาน กยท.บางขุนนนท์ ขณะเดียวกัน THG ได้มอบให้ รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง เปิดบริการฉีดไฟเซอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กทม. อีก 2 หมื่นโดส ให้กับ ชาวป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์และเขตพระนคร ภายใต้การบริหารของ นพ.พิชญา นาควัชระ ผอ.รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง
“ฟลุ๊ค ไอน้ำ–หม่อมเอ็ม” ไม่รอด
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคนบันเทิงติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีกได้แก่ ฟลุ๊ค ไอน้ำ หรือนายจิตรกร บุญสอน ศิลปินในสังกัดข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่แจ้งว่า นักร้องหนุ่มมีอาการป่วย รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เมื่อคืนวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงตรวจ ATK 2 รอบ ผลออกมาเป็นบวก และไปตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาล อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ได้รับ ยืนยันผลว่าพบเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ฟลุ๊คเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย ขณะเดียวกันหนุ่มฟลุ๊คยังโพสต์เฟซบุ๊ก Jittrakorn Boonsorn ว่า ฤดูกาลนี้ ไม่รอดนะครับ ส่วนผู้เสี่ยงสูงใกล้ชิดประมาณ 15 คน ผลลบทั้งหมด รวมทั้งภรรยาและลูก ยังงงว่าไปโดนมาตอนไหน ส่วนนักแสดงหนุ่ม หม่อมเอ็ม-อรรถพล เทศทะวงศ์ แจ้งข่าวผ่านอินสตาแกรมว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยเผยภาพผลตรวจ ATK พร้อมระบุข้อความว่า ตนติดโควิด-19 ตื่นมารู้สึกแค่ เจ็บคอและไอแห้งๆนิดหน่อย นอกนั้นปกติดีทุกอย่าง ตรวจ ATK ทั้งสองแบบแล้วผลเป็นบวก ตอนนี้เข้ารักษา แบบ home isolation เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตลาดการ์ดตกติดเชื้อกระจาย
สำหรับ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 ม.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไป 247 คน มากสุดที่อำเภอเมืองขอนแก่นถึง 192 คน และเมื่อช่วงสาย เจ้าหน้าที่ตลาดสดบางลำภู เขตเทศบาลนครขอนแก่น นำคลอรีนผสมน้ำยาฆ่าเชื้อมาเทราดและทำความสะอาดภายในตลาด หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 13 คน พร้อมทั้ง ติดป้ายปิดตลาดเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ม.ค. ทั้งนี้ นางอารยาณี เนียมประดิษฐ์ ผู้จัดการตลาดสดบางลำภู เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ค้าติดเชื้อรายแรก จึงตรวจเชิงรุกให้ผู้ค้าทุกคน รวมทั้งครอบครัวและผู้ใกล้ชิด จำนวน 400 คน ผลออกมาพบผู้ติดเชื้อ 11 คน ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ รวม 13 คน ตลาดจึงปิดตลาดเวลา 3 วัน เพื่อล้างทำความสะอาด พร้อมทั้งวางมาตรการขั้นเด็ดขาด หากพบไม่มีใครทำตามจะยกเลิกไม่ให้ขายทันที ส่วนต้นตอคลัสเตอร์นี้เกิดจากลูกน้องคนในตลาดติดเชื้อโควิด-19 แล้วนายจ้างปกปิดไม่บอก ประกอบกับ มีการเข้าใจผิดว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไม่รุนแรง ติดง่ายหายเร็วทำให้ประชาชนการ์ดตก จนเกิดการแพร่ระบาดไปทั่ว
โวยค่าตรวจ ATK แพง นทท.เผ่น
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายยานยนต์ อรุณเวสสะเศรษฐ นายกสมาคมผู้ ประกอบการเรือนำเที่ยวเกาะเสม็ด จ.ระยอง อายุ 57 ปี เกี่ยวกับมาตรการของจังหวัดที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมีผลตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมง จึงจะเดินทางข้ามไปเที่ยวที่เกาะเสม็ดได้นั้น ก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดเป็นอย่างมาก เมื่อนักท่องเที่ยวที่มาแบบเช้ามาเย็นกลับ ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีมาตรการดังกล่าว ต้องมาตรวจ ATK ที่คิดค่าตรวจ 300 บาทต่อคน แม้ต่อมาลดเหลือ 250 บาท ก็ยังยกเลิกเที่ยวเกาะเสม็ดทันที เพราะค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าค่าโดยสารเรือ นักท่องเที่ยวหายไปมากจนท่าเรือแทบร้าง ผู้ประกอบการต้องแบกภาระขาดทุน จึงขอฝากให้จังหวัดยกเลิกมาตรการดังกล่าว ให้คงมาตรการเหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น เช่นที่ จ.ภูเก็ต และเกาะช้าง จ.ตราด เป็นต้น ที่กำหนด แค่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็สามารถผ่านไปได้ หรือทางภาครัฐควรมีการสนับสนุนการตรวจ ATK ให้กับนักท่องเที่ยว โดยมาตรวจในจุดที่ใกล้กับท่าเรือเพื่อสะดวกต่อนักท่องเที่ยว เพราะหากยังคงมาตรการต่อไปการท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดพังแน่
โอมิครอนอยู่บนพลาสติกได้นานสุด
วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยการแพทย์เกียวโตในญี่ปุ่น เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยเบื้องต้นที่พบว่า ไวรัสโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน มีความสามารถในการอยู่รอดบนพื้นผิววัตถุ และอยู่รอดบนผิวหนังนานกว่าเชื้อกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้โอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยการทดสอบค้นพบว่าโอมิครอนอยู่รอดบนพื้นผิวพลาสติกได้นาน 193.5 ชั่วโมง หรือกว่า 8 วัน เมื่อเทียบกับเดลตาที่อยู่ได้นาน 114 ชั่วโมง หรือเกือบ 5 วัน ขณะที่อัตราการอยู่รอดบนผิวหนังคน โอมิครอนอยู่ได้ประมาณ 21.1 ชั่วโมง เดลตา 16.8 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังทำการทดสอบประสิทธิภาพของเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ความเข้มข้น 40 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถทำให้เชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ทุกชนิดไม่ว่าอัลฟา เดลตา หรือโอมิครอน หยุดทำงานภายในเวลา 15 วินาที ขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษเผยผลการวิจัยผ่านวารสารการแพทย์เดอะ แลนเซ็ท ยืนยันว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคของจีนครบ 2 เข็ม จะมีปริมาณภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงในระดับที่สามารถรับมือกับเดลตาหรือโอมิครอน หากได้รับการฉีดเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน