กรณีดราม่าร้อน #ปังชา ขึ้นเทรนด์ข้ามวันข้ามคืน หลังมีข่าวร้านดังยื่นฟ้อง ร้านค้ารายย่อนที่ใช้ชื่อว่า “ปังชา” เป็นจำนวนเงิน 102 ล้านบาท ล่าสุดทางร้านดังได้ออกมาชี้แจงพร้อมขอโทษแล้ว
ทนายนิด้า ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นดังกล่าว โดยแนบภาพอธิบายอย่างชัดเจน ระบุว่า ถ้าตามเอกสารฉบับนี้ มีความหมายว่า มีการยื่นคำขอจด เครื่องหมายนะคะ คือยื่นคำขอจดรูปภาพนี้ทั้งภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้หญิง ถ้วยชา พร้อมคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ปรากฏในภาพด้วย ในหมวดรายการสินค้าและบริการตามกรอบสีแดง
ในภาพปรากฏประเด็นปัญหา คือคำว่า “ปังชา” ที่เป็นข้อโต้เถียงกันในขณะนี้ว่า เจ้าของใช้ได้คนเดียวในหมวดที่จดไว้นี้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะมีข้อจำกัดในการจดฯ ภาพในกรอบสีเขียว ดันมีคำที่ประชาชนทั่วไปควรจะสามารถใช้ได้ด้วย นั่นก็คือคำว่า “ปังชา” อันที่จริงก็ ชาไทยด้วย ก็คำมันสามัญ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ร้านขายโอเลี้ยงแล้ว
ผู้ขอจดจึงต้องสละสิทธิที่จะใช้คนเดียว ตามหลักฐานที่ขีดเส้นใต้สีฟ้าไว้ การสละสิทธิ์มีความหมายว่าไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความที่ขอสละสิทธินั้นทั้งหมด แต่คนยื่นคำขอก็ยังสามารถใช้ได้นะคะ แต่ไม่ใช่คนเดียว แต่คนอื่นที่จะใช้ได้ ถ้าหากนำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ตามกรอบสีเขียว และเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกันยังสามารถห้ามได้อยู่
จากประสบการณ์ในการจดให้ลูกความ ถ้าไม่สละสิทธิที่จะใช้แต่เพียงผู้เดียว ในคำที่เป็นคำสามัญ ชาวบ้านชาวช่อง เขาใช้กันโดยทั่วไป ใช้มานาน ไม่ใช่คำประดิษฐ์พิสดารอะไร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็คงจะไม่รับจดให้ เพราะมันเอาเปรียบคนอื่น
ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามคำขอนี้ คำว่า “ปังชา” ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้ได้โดยสุจริต โดยไม่มีสิทธิถูกฟ้องได้ แต่อย่าไปใช้บนรูปลักษณ์ของเครื่องหมายในกรอบสีเขียว ให้มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน โดยมีเจตนาฉกฉวยประโยชน์ให้เจ้าของเครื่องหมายเสียหาย แบบนี้มีสิทธิถูกฟ้องได้
และในเวลาต่อมาโพสต์อีกครั้ง เป็น #ปังชา EP.2 ยืนยันว่า คำขอนี้ ขอจดเครื่องหมายบริการในหมวด ตามกรอบสีแดง ตามรูปที่ขอจดทะเบียนไม่ได้มีคำภาษาไทยว่า “ปังชา” มีแต่เพียงคำภาษาอังกฤษ ดังนั้นเจ้าของเครื่องหมายนี้ยิ่งไม่สามารถห้ามประชาชนไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขาย ชาไข่มุก น้ำแข็งไส เครื่องดื่มชา บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มได้
ประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา”ได้ จบ!
ขณะที่ทางเพจเฟซบุ๊ก “Lukkaithong – ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant” ล่าสุดได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ประกาศชี้แจงถึงกรณีข้อความในโพสต์ที่ได้มีการโพสต์ผ่านทางโซเชียลมีเดียของทางร้าน พร้อมขออภัยที่มีการสื่อสารและทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ขอน้อมรับทุกคำติชม คำแนะนำ และจะปรับปรุง พัฒนา
ทั้งในการสื่อสาร การบริการ สินค้า ต่อไป
ขอขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้ให้ข้อมูลและหาแนวทางร่วมกันในการชี้แจ้งเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจทางแบรนด์เป็นอย่างดีที่สุด ที่สำคัญที่สุด กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพจากใจในทุกๆ ท่านที่ร่วมกันโพสต์แสดงความคิดเห็นให้แนวทาง อธิบายในข้อมูลที่มีเพื่อ เป็นความรู้กับปังชาเป็นอย่างดีที่สุด ขอบพระคุณจริงๆค่ะ
ที่ผ่านมาจากกระแสที่เกิดขึ้น ทางร้านลูกไก่ทอง และ ปังชา มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ได้มีการสอบถามและหาปรึกษาแนวทางร่วมกัน ชี้แจงกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงออกมาชี้แจง ณ ที่นี้พร้อมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา