“ชัชชาติ” เข้าพบอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย หารือโครงการความร่วมมือ Global Future Cities ในการสนับสนุนทางเทคนิคและวิชาการในด้านการขนส่ง การวางผังเมือง และการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ
8 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าพบ H.E. Mr.Mark Gooding OBE เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย อาคาร เอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ เขตสาทร เพื่อหารือโครงการความร่วมมือ Global Future Cities ระหว่างกรุงเทพมหานครและรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยมี นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นายอาสา สุขขัง ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ ผู้แทนสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ร่วมเข้าพบและให้ข้อมูล
กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 19 เมืองที่มีรายได้ระดับปานกลางที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือ Global Future Cities (GFC) สนับสนุนโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อให้การสนับสนุนทางเทคนิคและวิชาการในด้านการขนส่ง การวางผังเมือง และการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยมี โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) เป็นผู้กำหนดรายละเอียดการดำเนินการและประเมินความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา
การดำเนินการในช่วงแรก คือ การกำหนดยุทธศาสตร์และการฝึกอบรม และช่วงที่สองในปี พ.ศ. 2562-2565 คือการดำเนินการตามแผนการดำเนินโครงการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ และคณะทำงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือฯ ทั้ง 3 กิจกรรม มีรายละเอียดดังนี้
1. กิจกรรมศูนย์กลางบูรณาการข้อมูล (Integrated Data Hub: IDH) เพื่อสร้างฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานในสังกัด กทม. สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และตามเวลาได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และสนับสนุนกระบวนการวางแผนและวิเคราะห์นโยบายของ กทม. การดำเนินกิจกรรมแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564
บริษัทที่ปรึกษาได้วิเคราะห์ลักษณะการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานระดับสำนักของ กทม. ทั้ง 16 สำนัก และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูล โดยได้จัดทำกรอบการทำงานของศูนย์ข้อมูลแบบบูรณาการ (IDH Framework) และแผนงานศูนย์ข้อมูลแบบบูรณาการ (IDH Roadmap) รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำแผนไปปรับใช้ตามกระบวนการของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล
2. กิจกรรมระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการน้ำท่วม (Decision-Support System for Flood Management: DSS) เพื่อพัฒนาศักยภาพในการป้องกัน บรรเทา และรับมือกับน้ำท่วมในเชิงรุก โดยการดำเนินการจัดตั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการน้ำท่วม
3. กิจกรรมแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนบริเวณคลองบางหลวงและสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า (Transit-oriented Development Plan for Klong Bang Luang and Bang Wa BTS Station: TODP) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้การขนส่งสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถ ราง เรือ พร้อมทั้งเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน ส่งเสริมการวางผังเมืองที่คำนึงถึงพื้นที่ โดยเชื่อมต่อการขนส่งกับการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และเศรษฐกิจ บริษัทที่ปรึกษาได้ร่างแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีการขนส่งมวลชน (TOD) สำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ จำนวน 3 แนวทาง ได้แก่
- การพัฒนาเชิงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage)
- การพัฒนาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Health and Wellness)
- การพัฒนาด้าน ความรู้ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชน(Community, Collaboration, knowledge, and Innovation)
ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และสถานศึกษา เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่ไปพัฒนาแผน TOD ฉบับสุดท้าย เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปดำเนินการในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางหว้าและคลองบางหลวงต่อไป