“ดร.อนันต์” เผยข้อมูล “โอมิครอน” เวอร์ชันล่องหน BA.2 แนวโน้มแพร่ไวกว่า โอมิครอนรุ่นพี่ BA.1 ยากต่อการตรวจพบ เจอแล้วหลายประเทศ
วันที่ 11 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่า หลังจากที่ติดตามข้อมูลมาสักระยะหนึ่ง ตอนนี้เหมือนจะชัดเจนขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินเดียว่า โอมิครอนตัวน้อง หรือที่ก่อนหน้านี้เรียกชื่อกันว่า โอไมครอนเวอร์ชันล่องหน (Omicron Stealth) หรือ BA.2 มีแนวโน้มการกระจายตัวเองได้ไวกว่าโอมิครอนรุ่นพี่ หรือ BA.1 ที่มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาใต้ ตัวเลขของตัวอย่างไวรัสที่ตรวจในหลายประเทศเห็นแนวโน้มแบบเดียวกันคือ ตัวอย่าง BA.1 เริ่มลดลง ขณะที่ BA.2 เริ่มสูงขึ้นชัดเจน
ถึงแม้ว่า BA.2 จะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือน BA.1 แต่ไวรัสตัวนี้มีจุดสำคัญหลายตำแหน่งที่เป็นคุณสมบัติของตัวเอง และที่แตกต่างชัดเจนคือ BA.2 ขาดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในยีนโปรตีนหนามสไปค์ ที่เรียกว่า S gene dropout ( DEL69-70) หรือการตรวจไม่พบยีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ตรวจพบโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมด้วย RT-PCR อย่างรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการตรวจวัด จึงเป็นที่มาของคำว่า “ล่องหน” ของชื่อไวรัสตัวนี้ครับ แต่ทั้งนี้ยีนอื่นยังตรวจได้ RT-PCR จะยังตรวจพบ BA.2 แต่แยกออกจากสายพันธุ์อื่นๆ อย่างเดลตาไม่ได้
น่าสนใจว่าไวรัส 2 สายพันธุ์นี้แตกต่างกันไม่มากนัก แต่ถ้า BA.2 วิ่งไวกว่า BA.1 จะทำให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 2 สายพันธุ์ได้ชัดขึ้น ตำแหน่งไหนที่ทำให้ไวรัสวิ่งได้ไว ไม่แน่นะครับโอมิครอนตัวหลักอาจโดนตัวน้องเอาชนะได้ในอีกไม่นานครับ อารมณ์ในอินเดียเหมือนตอนไวรัสตัวพี่ของเดลตา B.1.617.1 ถูกรุ่นน้องอย่างเดลตา B.1.617.2 ชนะยังไงไม่รู้ครับ
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana