“ดร.อนันต์” เผยงานวิจัย ผู้ป่วยชายหากติด “โควิด-19” อาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยหญิง เพราะอะไรอ่านเลย
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับ ไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า
“ข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมีโอกาสที่จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้สูงอายุชายมีโอกาสติดโควิดแล้วอาการรุนแรงมากกว่ากลุุ่มช่วงอายุอื่นๆ ข้อสังเกตนี้มีงานวิจัยออกมาหาคำอธิบายหลายชิ้น ซึ่งสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าว บทความชิ้นหนึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Immunology สรุปออกมาได้อย่างน่าสนใจครับ
ผู้ชายมีฮอร์โมนชื่อว่า Androgens ประกอบไปด้วย testosterone และ dihydrotestosterone ในปริมาณที่สูง ในขณะที่เพศหญิงมีฮอร์โมนชื่อว่า estrogen และ progesterone ที่สูงกว่าผู้ชาย ความแตกต่างของฮอร์โมนนี้พบว่ามีผลโดยตรงต่อความสามารถในการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
โดย ฮอร์โมน testosterone ไปมีผลต่อการเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน (TMPRSS2) ที่ช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ดี ในขณะที่ Estrogen ในผู้หญิงนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้การเข้าสู่เซลล์ของไวรัสดีขึ้นแล้ว ยังไปสามารถกระตุ้นการยับยั้งการสร้างโปรตีน ACE2 ซึ่งเป็นโปรตีนตัวรับสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส ทำให้อวัยะวะสำคัญของผู้ชายเช่น ปอด หัวใจ มีการแสดงออกของ ACE2 สูงกว่าผู้หญิง
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ฮอร์โมน estrogen ยังพบว่ามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างโปรตีน ชื่อว่า TLR7 ที่ตรวจจับการติดเชื้อไวรัสได้ไว และ ดี มีผลให้ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อได้ดีกว่าผู้ชาย โอกาสที่ไวรัสจะเพิ่มจำนวนหลังติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะช้ากว่า
นอกจากนี้ผู้ชายยังมีอัตราส่วนของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ที่มากกว่า ซึ่งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงในผู้ป่วยโควิด มีปริมาณเม็ดเลือดขาวสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น ฺB cell หรือ T cell น้อยกว่าผู้หญิง โดยรวมแล้ว ธรรมชาติให้กลไกการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในหลายระดับครับ
ภาพจาก Anan Jongkaewwattana / AFP/ รอยเตอร์