น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิด เผยว่า ในการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการ ร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการทั้งรัฐและเอกชนในการจัดการเรียนการสอนอาชีวะ ซึ่งมีหลากหลายความเห็นที่ตนพร้อม สนับสนุนและเห็นด้วยอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับหลักสูตรวิชาชีพที่จะต้องตัดวิชาที่ไม่จำเป็นออกไป และเน้นทักษะที่ควรจะมีของนักศึกษาอาชีวะจริงๆ และการเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นให้มีมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีที่ยืดหยุ่น มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นให้ผู้เรียนอาชีวศึกษา เรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภายใน 4 ปี ซึ่งเด็กจะมีอายุ 18 ปี สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ ซึ่งขณะนี้เมื่อเด็กเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะมีอายุ 17 ปี ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากอายุไม่ถึงติดกฎหมายแรงงาน
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์นี้ตนจะหารือกับ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการตามความเห็นของที่ประชุม อ.กรอ.อศ.ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะการขับเคลื่อนการผลิตผู้เรียนสายวิชาชีพเพื่อป้อนตลาดอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการเรียนอาชีวะมาโดยตลอด ดังนั้น จากนี้ไปตนจะมุ่งเป้าเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพให้มากขึ้น และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องปรับระบบการทำงานใหม่อย่างจริงจัง เช่น การเดินสายสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองถึงการเรียน สายอาชีพ ระบบการแนะแนวในโรงเรียน เป็นต้น ขณะเดียวกัน กฎระเบียบใดที่เป็นปัญหาอุปสรรคของการเรียนอาชีวะจะต้องนำมาทบทวนใหม่ ซึ่งอาจรวมไปถึงการรีแบรนด์อาชีวะทั้งระบบ.