ไอเดียของนิสิตจุฬาฯ ปี 1 เนรมิตทางม้าลาย 3 มิติ ใครเห็นก็ต้องชะลอ ขณะที่บางส่วนมองว่า ต่อให้ทางม้าลายดีแค่ไหน แต่หากไม่เคารพกฎหมาย ก็ไม่มีประโยชน์
จากกรณีอุบัติเหตุ “ส.ต.ต.” ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ขณะเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท อย่างแรง เป็นเหตุให้หมอกระต่ายเสียชีวิต ซึ่งต่อมา มีการเรียกร้องให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ใส่ใจคนที่ข้ามบริเวณทางม้าลายมากขึ้น ขณะที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้เร่งปรับปรุงทางม้าลาย ที่เส้นเลือนราง หรือบางจุดมีสิ่งกีดขวาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ที่เดินข้ามถนนมากขึ้น ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วานนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Virapong Noppun” มีการโพสต์ภาพทางม้าลาย 3 มิติสีชมพู พร้อมระบุข้อความว่า “ทางม้าลาย ผลงานนิสิตสถาปัตย์จุฬาฯ ปี 1 สุดยอด!” ซึ่งหลังจากที่แชร์ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนชื่นชมไอเดียของนักศึกษา แต่บางคนก็มองว่า หากผู้ใช้ถนนไม่เคารพกฎจราจร ต่อให้ทางม้าลายเห็นเด่นชัดแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์ ฯลฯ
ล่าสุด จากกรณีโซเชียลแชร์ภาพ ทางม้าลาย 3 มิติ สีชมพู ที่ดูเหมือนแท่งยื่นลอยออกมาจากถนน ระบุว่าเป็นผลงานของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 1
วันนี้ (2 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่มาสำรวจพร้อมสอบถามความคิดเห็นและมุมมองจากผู้ใช้ทางม้าลายดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะคล้ายมีเครื่องกั้นกีดขวางไว้บางมุมก็ดูเหมือนขั้นบันได โดยผู้ใช้ทางม้าลายมองถึงด้านความปลอดภัย และคิดว่าจะทำให้ผู้ขับขี่รถบนท้องถนนมองเห็นได้ชัดเจนและเกิดความระมัดระวังคนข้าทางม้าลายมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน ที่ควรปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายจราจรในการใช้รถใช้ถนน
สำหรับทางม้าลายที่เห็นนี่เป็นผลงานของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการประกวดผลงาน โครงการ 3D crosswalk “ทางม้าลายสามมิติ” ที่สมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จัดทำขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะทำทั้งหมด รวม 7 จุดภายในพื้นที่ของมหาลัยฯ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดแรกในการทดลองใช้ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงต่อไป.
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Virapong Noppun