ธนาธร ชี้ ความเหลื่อมล้ำ -ความจน เกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ปลุกท้องถิ่นทวงคืนอำนาจและงบประมาณ จากส่วนกลาง
24 เมษายน 2565 ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ วานนี้(23 เม.ย.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปราศรัยเวที “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ปลุกท้องถิ่น ทวงคืนอำนาจและงบประมาณที่ถูกดึงไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลางมากว่า 130 ปี แก้วิกฤตใหญ่ของชาติทั้งความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ และการเมืองได้
นายธนาธร กล่าวว่า โครงการที่คณะก้าวหน้าและผู้นำท้องถิ่นหลายส่วน ร่วมรณรงค์อยู่นี้ มีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา หรือในวันครบรอบ 130 ปีของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435 เพียงสิบปีหลังการปฏิรูปในครั้งนั้น เกิดกบฏขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งล้วนมีเหตุผลมาจาก 3 เรื่องหลัก คือ
1) การแย่งชิงทรัพยากร
2) อำนาจในการจัดการตนเอง
และ 3) ภาษี ที่ถูกดึงไปอยู่ที่รัฐส่วนกลาง
นายธนาธร ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ที่สร้างไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง แต่คนพื้นที่ไม่ได้ดอกผลจากการพัฒนา ได้รับแต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าและผลกระทบต่างๆ เขื่อนปากมูลที่ส่งไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง เหมืองตะกั่วคลิตี้ ที่คนออกประทานบัตรคือรัฐส่วนกลาง คนพื้นที่ไม่ได้เห็นชอบด้วย แม้จะปิดไปแล้วแต่มลพิษยังคงตกค้างอยู่กำจัดไม่หมดจนถึงทุกวันนี้ นี่คือความจริงที่น่าเศร้าของประเทศไทย
นี่คือเรื่องของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ทุกวันนี้หลายพื้นที่ยังมีน้ำประปาที่มีสีขุ่น ถนนหนทางเป็นลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นี่คือประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เราไม่มีความรู้และเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะประชาชนไม่มีทั้งอำนาจและงบประมาณในมือของตัวเอง ทุกวันนี้ส่วนกลางโยนภารกิจมาให้ท้องถิ่นจัดการ แต่ไม่ให้งบประมาณมาด้วย กฎหมายหลายฉบับซ้อนกันเอง ต้องวิ่งหาหน่วยงานส่วนกลาง ท้องถิ่นไม่มีอำนาจจัดการเองได้
“เขาบอกว่าคนต่างจังหวัดโง่จึงจน เขาบอกว่าที่จนเป็นเพราะชาติที่แล้วทำบุญมาไม่พอ ผมปฏิเสธที่จะเชื่ออยางนั้น สิ่งที่ผมเชื่อคือความจน ความเหลื่อมล้ำ ล้วนเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และนี่คือหลักใหญ่ใจความของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราเสนอ เพื่อให้เกิดการจัดสรรอำนาจและงบประมาณเสียใหม่” นายธนาธร กล่าวลักล่าวต่อ
การจัดสรรรายได้ของแผ่นดินวันนี้ แบ่งเป็น 70% ให้ส่วนกลาง อีก 30% ให้ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งไปหารกันเอง ถ้าคิดตามปีงบประมาณ 2565 คือ 2.49 ล้านล้านบาท จะมีเงินรายได้มาถึงท้องถิ่นเพียง 7 แสนล้านบาท เฉลี่ยไปในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งเท่านั้น
แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การจัดสรรภาษีจะถูกเปลี่ยนเป็น 50-50 ท้องถิ่นจะได้งบประมาณรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เมื่อหาร 7 พันกว่าแห่ง เท่ากับว่าท้องถิ่นทุกที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกที่ละเฉลี่ย 63 ล้านบาทต่อปี นี่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ สามารถซ่อมถนน สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดีให้ลูกหลานของเรา ลงทุนในน้ำประปา จัดสวนสาธารณะที่ดีได้ จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและคนทุกคนกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้
ถ้ามีงบลงมาอีกที่ละ 60 ล้าน จะมีการพัฒนา มีการจัดซื้อจัดจ้าง จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ภาษีที่ไปหล่อเลี้ยงรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ จะถูกดึงกลับมาสู่ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ห่างไกลกันอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องผ่านตัวกลางมากมายกว่างบประมาณจะลงมาถึงประชาชน ตัวกลางเดียวที่มีอยู่คือ บัตรเลือกตั้ง
ถ้าสะเดาะกุญแจนี้ออกได้ จะทำให้ประชาธิปไตยในระดับชาติเข้มแข็ง จากการเมืองที่เข้มแข็งในระดับท้องถิ่น คนเข้าใจความหมายของบัตรเลือกตั้งมากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมายมากขึ้น ประชาชนได้ลิ้มรสประชาธิปไตยมากขึ้น
“ไม่ต้องทำบุญเยอะเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชาติหน้า ลงชื่อตอนนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้นในชาตินี้ เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าคณะก้าวหน้าจะทำคนเดียวได้ พลังของเราลำพังไม่พอ เราต้องการพลังจากทุกคน” นายธนาธร กล่าวในที่สุด