น้ำเขื่อนลำตะคองวิกฤติแห้งขอดในรอบ 10 ปี เกษตรกรกระทบเดือดร้อนหนัก ผู้ว่าฯ โคราช เตรียมประกาศเป็นภัยพิบัติสภาวะภัยแล้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ส.ค. นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง บริเวณทุ่งหญ้าสันดอนดินท้ายเขื่อน หมู่ 13 บ้านท่างอย ต.จันทึก เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ก่อนรายงาน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ นครราชสีมา หาแนวทางประกาศเป็นภัยพิบัติสภาวะภัยแล้ง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ทำเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์และทำสวนผลไม้ ในพื้นที่ 12 ตำบล กว่า 80,000 ไร่ ตามที่ลงทะเบียนไว้กับเกษตรอำเภอปากช่อง
นายคณัสชนม์ เปิดเผยว่า หลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่ลดลงทุกวัน ถือว่าวิกฤติในรอบ 10 ปี จะส่งผลต่อเกษตรกรที่ทำไร่บริเวณเหนือเขื่อน และอยู่รอบเขื่อนกว่า 10 หมู่บ้าน ที่นำน้ำในเขื่อนขึ้นไปใช้ เพราะพื้นที่เก็บกักน้ำ 277,000 ไร่ พอน้ำลดกลายเป็นสันดอนทุ่งหญ้าหลายหมื่นไร่ กลายเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน หากเปรียบเทียบกับปี 65 ในช่วงเดือน ส.ค. มีน้ำมาก สาเหตุปีนี้มาจากฝนทิ้งช่วงยาวนานหลายเดือน ไม่มีน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำไหลลงมาเข้าเขื่อน และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำใต้เขื่อน อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เมือ
ด้านนายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนลำตะคองมีความจุน้ำเต็มที่ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณฝนตกลงมาด้านเหนือเขื่อนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก ทำให้ช่วงฤดูฝนปีนี้ตกน้อยมาก น้ำไหลลงเขื่อนน้อยระดับน้ำในเขื่อนลดลงทุกวัน โดยเช้าวันนี้วัดได้เหลือเพียง 130 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ร้อยละ 42 % ส่วนปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 107 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37 % ส่วนการปล่อยน้ำลงไปยังพื้นที่ใต้เขื่อน เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการเพาะปลูกจำนวน 1 แสน 2 หมื่น ไร่ วันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อนหน้านี้จะปล่อยวันละ 600,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน และภาคเกษตรกรรมที่อยู่ด้านใต้เขื่อน ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว ,สูงเนิน ขามทะเลสอ และ อ.เมือง ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวเสร็จ ขอให้งดปลูกข้าวนาปี รวมทั้งปลูกพืชที่ใช้น้ำ เนื่องจากในช่วง 2 ปี คือ 2566-2567 ยังคงประสบปัญหาจากสภาวะเอลนิโญด้วย