ประชาชนสปป.ลาว สุดตื่นเต้น! เปิดแล้ว “ทางรถไฟสายจีน-ลาว” พลิกโฉมเศรษฐกิจ-การลงทุน-การท่องเที่ยว

  • ประชาชนในสปป.ลาว สุดตื่นเต้น ทางรถไฟความเร็วสูงสายจีน-ลาว ความยาวนับพันกิโลเมตร เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 3 ธ.ค.
  • มุ่งหวังให้เส้นทางรถไฟจากคุนหมิง ทางใต้ของจีน มายังนครเวียงจันทน์ ของสปป.ลาวจะช่วยสร้างประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว
  • ยุทธศาสตร์ของสปป.ลาวที่ต้องการเปลี่ยนตนเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก

ต้องเรียกว่า ‘คึกคักตื่นเต้น’ เป็นอย่างยิ่ง สำหรับทางรถไฟสายจีน-ลาว จากเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มายังนครเวียงจันทน์ของสปป.ลาว เมื่อได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา

โครงการทางรถไฟสายจีน-ลาวนี้ ถือเป็นโครงการอภิมหาโปรเจกต์ ของสปป.ลาวเลยทีเดียว เพราะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท

ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ร่วมลงทุนในโครงการนี้ 70% และรัฐบาลสปป.ลาวร่วมลงทุน 30% จึงทำให้โครงการทางรถไฟสายความเร็วสูงสายจีน-ลาว  สำเร็จเรียบร้อย โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและทดสอบระบบต่างๆ ทั้งหมด เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น 

ระยะทางนับพันกิโลฯ ใช้เวลาเดินทางแค่ราว 10 ชม.เท่านั้น

ทางรถไฟความเร็วสูงสายจีน-ลาว มีความยาว 1,035 กม. (ในส่วนของสปป.ลาว 414 กม.) เชื่อมระหว่างนครคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และนครเวียงจันทน์ ของสปป.ลาว 

ความเร็วของรถไฟความเร็วสูงในการวิ่งบริการผู้โดยสาร มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาการเดินทางราว 10 ชั่วโมง (นับรวมพิธีการทางศุลกากร) ประกอบด้วยอุโมงค์ 167 แห่ง และสะพาน 301 แห่ง

สถานีรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ในนครเวียงจันทน์

สปป.ลาวเปลี่ยนตนเอง เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก

ทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ถือเป็นโครงการเชื่อมต่อสำคัญภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่นำเสนอโดยจีน และยุทธศาสตร์ของลาวที่ต้องการเปลี่ยนตนเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก มีนัยสำคัญยิ่งยวดต่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจระดับทวิภาคี รวมถึงความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

ทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มต้นก่อสร้างเดือนธันวาคม 2015 ด้วยการประยุกต์ใช้การบริหารจัดการ มาตรฐานทางเทคนิคและนิเวศวิทยาของจีนอย่างเต็มรูปแบบ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศสปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานเปิด ทางรถไฟสายจีน-ลาว เมื่อ 3 ธ.ค.64

สองผู้นำจีน-สปป.ลาวร่วมเป็นสักขีพยานเปิดทางรถไฟ

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และทองลุน สีสุลิด เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (LPRP) และประธานประเทศสปป.ลาว ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 64

ในระหว่างการพบกันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับนายทองลุน ประธานสปป.ลาวผ่านระบบวิดีโอ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวว่า ขณะนี้จีนและสปป.ลาว ‘ยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่’

‘จีนมีความยินดีที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของการเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์กับสปป.ลาว ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (The Belt and Road Initative) และจะเดินหน้าเสริมสร้างชุมชนจีน-ลาวที่แบ่งปันอนาคตร่วมกันที่ไม่อาจทำลายลงได้’ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวถึงอนาคตที่ดีร่วมกันของสองประเทศ

รถไฟขบวนปฐมฤกษ์ออกเดินทาง

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเปิดทางรถไฟสายจีน-ลาวเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยรถไฟขนส่งสินค้า ผลิตภัณฑ์แร่โพแทช ซึ่งผลิตโดยกิจการร่วมค้าจีน-ลาว “ซิโน-อะกริ อินเตอร์เนชันแนล โพแทช คอมพานี” (Sino-Agri International Potash Company)  ถือเป็นรถไฟขบวนแรกที่เดินทางออกจากสถานีนครเวียงจันทน์ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 ธ.ค.

ส่วนทางฝั่งจีน ขบวนรถไฟหัวกระสุนสีเขียวสะดุดสายตาของทางรถไฟจีน-ลาว ได้ออกเดินทางเมื่อ 4 ธ.ค. ผ่านพื้นที่และวิ่งถึงสถานีต่างๆ ของเส้นทางเดินรถ อย่างเช่น สะพานข้ามแม่น้ำหยวนเจียง สถานีอวี้ซี และสถานีคุนหมิง ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ถือเป็นการเริ่มต้นของความหวังดีๆ ที่รอคอยมานานหลายทศวรรษของประชาชนในสปป.ลาว แม้ว่าจะมีเสียงเตือนถึงอุปสรรคและปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือ การที่รัฐบาลสปป.ลาวต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนโตในโครงการสร้างทางรถไฟสายนี้ ที่มีเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ จีน ก็ตาม

เรียบเรียงโดย : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา-ภาพ : Xinhuathai, Reuters