ประเดิมปีใหม่! ออกมาตรการ สั่งปิดโรงเรียนกลับไปเรียนออนไลน์ “เวิร์กฟรอมโฮม” นาน 14 วัน หวังสกัดการระบาดหลังงานเฉลิมฉลอง-รวมญาติ

ประเดิมปีใหม่ หลายจังหวัดออกมาตรการ ให้ นร.กลับไปเรียนออนไลน์-ขรก.เวิร์ก ฟรอม โฮม นาน 14 วัน หวังสกัดการระบาดหลังงานเฉลิมฉลอง-รวมญาติ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังยืนที่กว่า 3 พันคน แต่เสียชีวิตรายวันลดลงที่ 10 ศพ ด้านเมืองคอนเจอรายแรกผู้ป่วยติดโอมิครอน นั่งรถโดยสารมาจาก กทม. มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเกือบครึ่งร้อย ด้านนายกฯ ปลื้มงานเคาต์ดาวน์ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ขณะที่คลังปิดแล้ว 4 โครงการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ปี 2564 ช่วยให้เงินสะพัดกว่า 2.54 แสนล้านบาท มีผู้ใช้สิทธิ 41.50 ล้านราย พร้อมเตรียมเปิดคนละครึ่งเฟส 4 มี.ค.นี้

หลังจากไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) มาตลอด 2 ปี นับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดในประเทศเมื่อต้นปี 2563 กระทั่งเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2565 ที่คนไทยได้กลับมามีงานเฉลิมฉลองอีกครั้ง โดยยังพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่ ยืนอยู่ที่หลักสามพันคนต่ออีกวัน แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง

เข้าไทยติดเชื้อพุ่ง 142 คน

เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,011 คน แยกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,716 คน จากเรือนจำ 57 คน จากผู้เดินทางจากต่างประเทศ 142 คน จาก 37 ประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 23 คน ตามด้วยสหราชอาณาจักร 21 คน และอาหรับเอมิเรตส์ 10 คน ผู้ป่วยรักษาหาย 3,315 คน ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,226,446 คน หายป่วยสะสม 2,171,809 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 10 ศพ แบ่งเป็นชาย 5 ราย หญิง 5 ราย แบ่งเป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 คน มีโรคเรื้อรัง 3 คน จังหวัดที่ผู้เสียชีวิตมากสุดประจำวันได้แก่ นครราชสีมาและตรัง จังหวัดละ 2 คน รวมเสียชีวิตสะสม 21,708 ศพ

กทม.ยืนหนึ่งติดเชื้อมากสุด

สำหรับ 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก ยังคงเป็น กทม.ที่ 399 คน ตามด้วย จ.ชลบุรี 289 คน อุบลราชธานี 254 คน นครศรีธรรมราช 161 คน ขอนแก่น 99 คน มหาสารคาม 81 คน สมุทรปราการ 75 คน เชียงใหม่ 69 คน ภูเก็ต 64 คน และระยอง 59 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแค่จังหวัดเดียว ได้แก่ จ.ระนอง ขณะที่การฉีดวัคซีนในวันที่ 31 ธ.ค.2564 เพิ่มขึ้น 165,805 โดส รวมฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 104,444,169 โดส

เดลตายังครองไทยเป็นหลัก

ต่อมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศไทยว่า ขณะนี้สายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตา ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนในไทยก็พบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่แซงสายพันธุ์เดลตาในปัจจุบัน แต่สุดท้ายสายพันธุ์โอมิครอนจะแซงแน่ๆ สำหรับตัวเลขที่มีการตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนตอนนี้ กรณีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศผ่านระบบ Test & Go ประมาณ 3,000 คน จะเจอเชื้อโอมิครอนประมาณ 200-300 คน

แนะปีใหม่รวมญาติการ์ดอย่าตก

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่พบติดจากครอบครัว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อมีการรวมตัวญาติพี่น้องเพื่อพบปะสังสรรค์ ขอเน้นย้ำการ์ดอย่าตก ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองแบบ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด และควรสวมหน้ากาก แม้อยู่ในบ้านโดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มเสี่ยง หากมีการสัมผัสด้วยการโอบกอดกับญาติพี่น้อง อาจมาจากสถานที่หรือพื้นที่ต่างๆ มารวมกลุ่มกันนั้น ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลาด้วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ส่วนการกินอาหารในบ้านให้เน้นปรุงสุก มีภาชนะอุปกรณ์ส่วนตัว หากมีกลุ่มเสี่ยงขอให้งดการรวมกลุ่ม กรณีเข้าร่วมงานในสถานที่ที่จัดงาน ให้ปฏิบัติเข้ม ดังนี้ 1.เลือกสถานที่ ที่ได้รับเครื่องหมาย COVID Free Setting และ SHA Plus 2.สถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก 3.เลี่ยงงานที่มีคนจำนวนมาก แออัด 4.ปฏิบัติตาม มาตรการ DMHTTA และ 5.งด ลด เลี่ยง รวมกลุ่มตั้งวงดื่มเหล้า และปฏิบัติตามกฎของสถานที่อย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19

หวังติดโอมิครอนไม่พุ่งพรวด

ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่าเป็นที่น่าดีใจว่ายอดผู้ป่วยรายวันยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และยิ่งไปกว่านั้น จากภาพข่าวที่เห็นในหลายช่องทาง การฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทั่วประเทศ เป็นไปอย่างราบรื่นตามมาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด ทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานต่างให้ ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ถ้าเป็นเช่นนี้การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโอมิครอนหลังปีใหม่น่าจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฮวบฮาบจนเป็นที่ตระหนกของทั้งภาคการแพทย์และภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องปากท้องของประชาชน

ศิริราชเหลือผู้ป่วยวิกฤติ 3 คน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ระบุด้วยว่า เริ่มต้นวันแรกของปีใหม่ด้วยการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในหออภิบาลระบบการหายใจ ตามภาระงานอาจารย์อำนวยการตลอดทั้งเดือนนี้ จำได้ว่าปีที่แล้วทั้งปีดูแลแต่ผู้ป่วยโควิด ส่วนผู้ป่วยทั่วไปมีอาจารย์ท่านอื่นมาช่วยทำหน้าที่ทดแทนให้ หวังว่าปีนี้จะได้กลับมาใกล้เคียงปกติ รับผิดชอบงานโควิดแค่ช่วงสั้นๆตามวงรอบ และเมื่อผ่านพ้นเดือนมิถุนายนไปได้ ทุกอย่างน่าจะกลับสู่สภาพปกติของการประกอบเวชปฏิบัติวิถีใหม่ (new normal medical practice) แวะไปเยี่ยมทีมโควิดศิริราช เกินครึ่งเดือนแล้วที่ไม่มีผู้ป่วยโควิดวิกฤติรายใหม่เข้ามา แม้จะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีผู้ป่วยโอมิครอนเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯมาตามลำดับ แม้จะเป็นวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่หมอและพยาบาลยังต้องขึ้นเวรดูแลผู้ป่วยโควิดที่ตกค้างอยู่ในมืออีกสามคน ที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเสมอสำหรับรับมือผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงหรือวิกฤติที่อาจจะเพิ่มเข้ามาใหม่เมื่อไรก็ได้

อาการไม่รุนแรงแม้ไม่ฉีดวัคซีน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ระบุอีกว่าสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าความหวังอาจเป็นจริง รายงานขั้นต้นจากทีมแพทย์ของประเทศแอฟริกาใต้ได้แสดงให้เห็นว่าในแง่การเจ็บป่วย โอมิครอนที่ระบาดในระยะแรกที่ประเทศเขานั้นไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด จากผู้ป่วยที่รับตัวไว้ในโรงพยาบาล 971 คน ของผู้ป่วยทั้งหมด 2,351 คน ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนในภาพรวมผู้ป่วยมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าระลอกก่อนๆ ทั้งการต้องรักษาด้วยออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิต แต่ต้องติดตามดูกันต่อไปเพราะผู้ป่วยระลอกแรกของเขานั้นเป็นกลุ่มเปราะบางแค่ร้อยละ 23.3 บ้านเราคนฉีดวัคซีนกันเยอะแล้ว ถ้าระมัดระวังตัวกันดีๆ ไม่ให้ยอดผู้ป่วยพุ่งพรวดพราดจนล้นเกินศักยภาพที่ภาคการแพทย์เตรียมไว้ การสูญเสียจากโอมิครอนอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คิด และพี่น้องชาวไทยคงมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากกันเสียที หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลมืดของโควิดที่ปกคลุมมานานกว่าสองปี

ปิด 4 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันเดียวกัน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าขณะนี้สิ้นสุดมาตรการลดภาระ ค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ปี 2564 ทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมการใช้จ่ายสะสม 254,281.7 ล้านบาท จากผู้ได้รับสิทธิ์ 41.50 ล้านราย สามารถจำแนกรายละเอียดแต่ละมาตรการ ดังนี้ 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.55 ล้านราย มียอดใช้จ่าย รวม 24,010 ล้านบาท 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ใช้สิทธิสะสม 1.51 ล้านราย มียอดใช้จ่ายรวม 2,183.3 ล้านบาท

มี.ค.เปิดคนละครึ่งเฟส 4

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย มีการใช้จ่ายรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 109,985.8 ล้านบาท และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิ 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 490,000 ราย มียอดใช้จ่ายสะสม 3,827.4 ล้านบาท และจะปรับปรุงระบบโครงการคนละครึ่ง รองรับการเปิดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ในช่วงเดือน มี.ค.2565 นี้ ส่วนมาตรการช้อปดีมีคืน 2565 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2565 นี้ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและค่าบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือ e-Book และสินค้า OTOP ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2565 จะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566

ชื่นชมภาพรวมจัดเคาต์ดาวน์

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ชื่นชมและขอบคุณความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จัดงานฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 ในหลายๆ พื้นที่ที่มีการจัดงานทั่วประเทศไทย ยังคงความเรียบร้อยและรักษามาตรการป้องกันตนเองสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และมาตรการ Covid Free Setting สำหรับบรรยากาศฉลองทั่วประเทศไทยในภาพรวมเป็นไปด้วยดี อาทิ กทม. ลานด้านหน้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ บริเวณศูนย์การค้าไอคอนสยามและสยามพารากอน ที่ จ.ภูเก็ต งาน “AMAZING NEW CHAPTERS @PHUKET” จ.เชียงใหม่ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (หอคำหลวง) งานแสดงพลุชุด Lanna Celebration เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่รัฐกำหนด เป็นการขานรับนโยบายภาครัฐในการเปิดประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเป็นตัวอย่างรูปแบบการจัดงานเฉลิมฉลองที่สร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน

คลัสเตอร์โอมิครอนเริ่มทรงตัว

สำหรับสถานการณ์ใน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีคลัสเตอร์ติดเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนเป็นกลุ่มใหญ่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค. จังหวัดพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 55 คน เป็นคลัสเตอร์เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยากลับจากต่างประเทศ และร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสี 20 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์นี้เชื่อมโอมิครอนแล้ว 244 คน นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยที่ติดจากโรงกลึงใน อ.หนองกุงศรี มาแพร่ เชื้อต่อในหมู่บ้านอีก 11 คน งานดนตรีหาดแสงจันทร์ อ.สหัสขันธ์ 1 คน สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 12 คน มาจากพื้นที่เสี่ยง 5 คน และอยู่ระหว่างสอบสวนโรครวม 6 คน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เชื่อมโยงกับร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสีขณะนี้ยังทรงตัว แม้ภาพรวมยังพบผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการสำคัญในการสกัดการระบาดหลังเทศกาลปีใหม่ มีคำสั่งจังหวัดกาฬสินธุ์ (ฉบับที่ 40) ลงวันที่ 30 ธ.ค.2564 สาระสำคัญหลักๆ ประกอบด้วย 1.ปิด-สถานศึกษาทุกระดับทุกสังกัด ให้เรียนออนไลน์จนถึงวันที่ 14 ม.ค.2565 2.ควบคุม-งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 100 คน งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2565 และ 3.ปฏิบัติงาน-งดจัดกิจกรรมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2565 ให้ส่วนราชการ Work From Home

อุบลฯ ติดเชื้อพุ่งทะลุ 304 คน

ส่วนศูนย์ EOC COVID-19 จ.อุบลราชธานี รายงานเมื่อวันที่ 1 ม.ค.พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 304 คน เป็นการติดเชื้อจากต่างจังหวัด 17 คน ติดเชื้อในพื้นที่อุบลราชธานี 287 คน พบผู้ป่วยมากสุดที่ อ.เมืองอุบลราชธานี 184 คน เป็นการติดเชื้อเพิ่มแบบคลัสเตอร์มากที่สุดยังเป็นร้านเอกมัย อ.เมืองอุบลราชธานี จำนวน 125 คน รวมยอดทั้งหมด 482 คน มีสัมผัสเสี่ยงสูง 1,151 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้กระจายไปใน 17 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ร้านแสนคำ ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม เพิ่ม 10 คน รวม 28 คน สัมผัสเสี่ยงสูง 155 คน

กลับมาเปิด รพ.สนามรอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.อุบลราชธานี ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีตัดสินใจกลับมาเปิดใช้โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาเขตบ้านยางน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี จำนวน 600 เตียงอีกครั้ง หลังมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงเป็นหลักร้อยมา 4 วันติดๆกัน เพื่อรองรับสถานการณ์และแนวโน้มที่จะมีอัตราผู้ป่วยสูงขึ้นอีกในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ นอกจากนี้ เทศบาลนครอุบลราชธานี ขอให้พนักงานและลูกค้าร้านเอกมัย รวมทั้งสถานบันเทิงใน จ.อุบลราชธานี ที่เข้าไปใช้บริการในเดือนธันวาคม 2564 เข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ฟรี ในระหว่างวันที่ 2-7 ม.ค.65 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ณ ศาลาจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง

หลังปีใหม่ให้เรียนออนไลน์ 14 วัน

วันเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 37 คน เป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด 26 คน เดินทางมาจากต่างจังหวัด 11 คน พบเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ร้านอาหาร 25 คน ตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล 1 คน พบผู้ติดเชื้อใน 14 อำเภอ แบบเป็นกลุ่มก้อนในการจัดงานเลี้ยงพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในอำเภอเสลภูมิ มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 9 คน คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 46 มอบหมายให้สาธารณสุขจังหวัดเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจมีจำนวนมากขึ้น ให้โรงเรียนทุก สังกัดปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-14 ม.ค.65 ให้หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าของกิจการนำแนวทาง work from home และรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

โอมิครอนโผล่เมืองคอน

ขณะเดียวกัน นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า งานระบาดวิทยากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ “โอมิครอน” เป็นรายแรกของ จ.นครศรีธรรมราช ตรวจพบที่ รพ.สิชล เป็นหญิงอายุ 26 ปี อาชีพพนักงานบัญชี รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เดินทางมาจาก กทม.พร้อมหลาน เพื่อมางานศพปู่ ที่หมู่ 6 ต.ฉลอง อ.สิชล ก่อนเดินทางได้ตรวจ ATK ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ไม่พบเชื้อโดยสารรถทัวร์กรุงเทพฯ-นครศรีฯ ในวันเดียวกันถึง อ.สิชล ช่วงเช้าของวันที่ 29 ธ.ค.มีป้ากับลุงไปรับจากคิวรถสิชลมาที่บ้านงานศพ ต่อมาผู้ติดเชื้อรายนี้มีอาการเหมือนไข้หวัด ตรวจ ATK ด้วยตนเองอีกครั้ง ผลตรวจพบสงสัยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางไปที่ รพ.สิชล กับพ่อและหลาน เพื่อตรวจยืนยัน RT-PCR รู้ผลติดเชื้อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ทาง รพ.สิชลได้ส่งตรวจหาสายพันธุ์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 30 ธ.ค.และได้รับการแจ้งผลเบื้องต้นว่าพบเชื้อโควิด-19 เข้าข่ายสายพันธุ์โอมิครอน

ฉีด 3 เข็มแล้วยังไม่รอด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในขณะนี้ผู้ป่วยรายนี้เข้ารักษาตัวที่ห้องแยกเดี่ยว รพ.สิชล อาการทั่วไปปกติ มีประวัติฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม เป็นวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยเข็มที่ 3 ฉีดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมี 23 คน มีครอบครัวที่กรุงเทพฯ และเพื่อนที่ทำงานรวม 4 คน ผู้ป่วยได้แจ้งไปยังครอบครัวและที่ทำงานแล้ว ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ อ.สิชล 10 คน เนื่องจากผู้ป่วยมีการตรวจหาเชื้อก่อนเข้าร่วมงานศพ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเฉพาะญาติ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงในรถโดยสารทั้งหมด 42 คน เป็นผู้โดยสาร 40 คน พนักงานขับรถ 2 คน ผู้ติดเชื้อ นั่งในที่นั่งด้านหลังแถวที่ 36 มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 9 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 33 คน

ยุโรปอ่วมส่งท้ายปี

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรปนับวันยิ่งรุนแรง มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประเทศฝรั่งเศส ส่งท้ายปีเก่าด้วยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 232,200 คน เมื่อ 31 ธ.ค.นับเป็นการติดเชื้อรายวันในประเทศเกิน 200,000 คน ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ทำให้มียอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศเกือบ 10 ล้านคน สูงเป็น
อันดับ 6 ของโลก ส่วนที่อิตาลีมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ถึง 144,243 คน มียอดสะสมเกินกว่า 6 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มการระบาดวันเดียวกันที่อังกฤษ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงสุดในยุโรป ยืนยันผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 189,846 คน ทำให้มียอดสะสมทั้งสิ้นเกือบ 13 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เผยว่าตัวเลขผู้ป่วยรายวันดังกล่าวยังไม่รวมการติดเชื้อซ้ำ และไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อจะมาเข้ารับการตรวจ เป็นการบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงอาจสูงกว่าตัวเลขที่รายงาน นอกจากนี้ ที่อังกฤษยังเผยผลการศึกษาที่พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราว 1 ใน 3 ของผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปถึงความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยจากสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ยืนยันว่าวัคซีนสามารถช่วยป้อง กันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้