บช.ปส.ปฏิบัติการสกัดแก๊งยาเสพติดข้ามชาติ ยึดไอซ์ 1,600 กก. คาเรือประมง ก่อนส่งออกนอกประเทศ พร้อมรวบนักบินเครือข่ายยาเสพติดภาคเหนือ พร้อมยาบ้า 4.6 ล้านเม็ด กับทรัพย์สินรวม 70 ล้านบาท
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค. 2566 พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร. และ ผอ.ศอ.ปส.ตร., พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง ผอ.ศอ.ปส.ตร., พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.พลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ ผบก.สกส., พล.ต.ต.สมกิต พุ่มวารี ผบก.ขส., พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ ผบก.ปส.1, พล.ต.ต.ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3, พล.ต.ต.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผบก.ปส.4 พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และ กอ.รมน. ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้กวาดล้างจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่และรายย่อยให้หมดสิ้นโดยเร็ว
ล่าสุด ตำรวจ ปส. (NSB) สามารถทลาย 3 เครือข่าย ผู้ต้องหา 15 คน พร้อมของกลางไอซ์ 1,600 กก. ยาบ้า 4.6 ล้านเม็ด และยึดทรัพย์ เรือประมง 1 ลำ สปีดโบ๊ต 2 ลำ รถยนต์ 9 คัน บ้าน 1 หลัง ที่ดิน 8 แปลง รวมมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท
คดีที่ 1 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 66 ตำรวจ บก.ปส.3 ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหา 9 คน ได้แก่ 1. นายกฤษณะ 2. นายสะหมาด 3. นายประโยชน์ 4. นายรุ่งศักดิ์ 5. นายอรชุน 6. นายจุมพล 7. นายนพดล 8. นายสุชาติ และ 9. นายอนุชา พร้อมของกลางไอซ์ 1,600 กก. โดยก่อนการจับกุม ตำรวจ ปส.3 ได้สืบสวนทราบว่า ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ จะมีการลำเลียงยาเสพติดลอตใหญ่ลงเรือ ส่งไปให้ขบวนการค้ายาเสพติดในต่างประเทศ โดยจะนำไปลงเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือไม่มีชื่อ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
เจ้าหน้าที่จึงวางแผนจับกุม ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 66 เวลาประมาณ 18.30 น. ตำรวจ ปส.3 ได้เข้าตรวจค้นเรือประมง Shipone TUG1 พบไอซ์ 1,600 กก. ซึ่งกำลังเตรียมออกทะเล เพื่อนำยาเสพติดไปส่งยังต่างประเทศ จึงแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ยึดยาเสพติดไว้เป็นของกลาง และยึดทรัพย์ไว้ตรวจสอบอีกหลายรายการ อาทิ เรือประมง 1 ลำ เรือสปีดโบ๊ต 2 ลำ รถยนต์ 5 คัน บ้าน 1 หลัง ที่ดิน 8 แปลง นำส่ง พงส.บก.ปส.3 เพื่อดำเนินคดีและขยายผลถึงผู้ร่วมขบวนการและผู้สั่งการต่อไป
คดีที่ 2 เมื่อ 13 พ.ค. 66 ตำรวจ บก.สกส.จับกุมผู้ต้องหา 2 คน ได้แก่ 1. นายสือ และ 2. นายพินิจ ได้ที่บริเวณริมถนนสายเอเชีย อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยตำรวจ บก.สกส.ได้สืบสวนทราบว่า ในวันที่ 13 พ.ค. 66 ขบวนการค้ายาเสพติดจะลำเลียงยาเสพติดลอตใหญ่จากภาคเหนือไปส่งให้ลูกค้าในภาคกลาง จึงวางแผนจับกุม ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 66 เวลาประมาณ 22.15 น. ได้มีรถกระบะ ยี่ห้อ โตโยต้า รีโว่ สีเทา หมายเลขทะเบียน ยฉ 76xx และรถกระบะ ยี่ห้อ โตโยต้า รีโว่ สีเทา หมายเลขทะเบียน ผค 89xx ขับขี่ผ่านไปถึงถนนสายเอเชีย ต.หันสัง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับรถลำเลียงยาเสพติดที่ได้รับรายงาน จึงสกัดจับกุมและทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบยาบ้าจำนวน 4 ล้านเม็ด บรรจุอยู่ในกระสอบจำนวน 25 กระสอบ ซุกซ่อนในรถกระบะหมายเลขทะเบียน ยฉ 76xx มี นายสือ เป็นผู้ขับขี่ โดยมี นายพินิจ เป็นผู้ขับขี่รถกระบะหมายเลขทะเบียนผค 89xx ทำหน้าที่นำทาง จึงแจ้งข้อกล่าวหาจับกุม ยึดยาเสพติดและรถกระบะ 2 คัน เป็นของกลาง นำส่ง พงส.ดำเนินคดี และสืบสวนขยายผลถึงผู้ร่วมขบวนการต่อไป
คดีที่ 3 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 ตำรวจ บก.สกส.ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหา 4 คน ได้แก่ 1. นายชาลี 2. น.ส.สายใจ 3. นายอนุชา และ 4. นายไกรทอง ได้บริเวณริมถนน สายบางปะหันปทุมธานี อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา จากการสืบสวนทราบว่า ในระหว่างวันที่ 11-14 พ.ค. 66 ขบวนการค้ายาเสพติดจะลำเลียงยาเสพติดจำนวนมากไปส่งให้ลูกค้าใน จ.พระนครศรีอยุธยา จึงวางกำลังตามเส้นทางเพื่อสกัดจับกุม ต่อมาวันที่ 14 พ.ค. 66 เวลาประมาณ 13.45 น. ได้มีรถกระบะ ยี่ห้อ อีซูซุ สีเทา หมายเลขทะเบียน 3ฒช 71xx และรถเก๋ง ยี่ห้อ โตโยต้า หมายเลขทะเบียน กจ 70xx ขับขี่ไปถึงบริเวณถนนสายบางปะหัน-ปทุมธานี ต.ขวัญเมือง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา มีท่าทางพิรุธจะขับขี่หลบหนี จึงสกัดจับกุมและตรวจค้นรถ พบยาบ้าจำนวน 600,000 เม็ด บรรจุอยู่ในกระสอบ 3 กระสอบ ซุกซ่อนในรถกระบะหมายเลขทะเบียน 3ฒช 71xx มี นายชาลี เป็นผู้ขับขี่ โดยมี น.ส.สายใจ นั่งข้างคนขับ และรถเก๋งหมายเลขทะเบียน กจ 70xx มี นายอนุชา เป็นผู้ขับขี่ และ นายไกรทอง นั่งไปด้วย รับว่าทำหน้าที่รถนำทาง จึงแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ยึดยาเสพติดและรถยนต์ 2 คัน ไว้เป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
เบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 คดี ถูกแจ้งข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยมีไว้เพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป”
ทั้งนี้ ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (NSB) จะสอบสวนเพื่อขยายผลหาผู้สั่งการขบวนการค้ายาเสพติดต่อไป ขณะที่ยาเสพติดของกลางที่ตรวจยึดมาได้นั้น พนักงานสอบสวนจะส่งไปตรวจพิสูจน์ยังหน่วยที่กำหนดไว้ อาทิ สำนักงาน ป.ป.ส., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้น ยาเสพติดของกลางจะถูกเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการทำลายต่อไป.