- ผู้มีสิทธิขอรับการเยียวยากรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก-ผิด ซึ่งจะมีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ที่ทราบความเสียหาย
- การพิจารณาจะขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. ว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือหรือไม่ หากไม่เห็นด้วย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
- อัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตั้งแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ถึงไม่เกิน 4 แสนบาท กรณีเสียชีวิต และทุพพลภาพถาวร
แม้การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบางคนฉีดถึงเข็ม 5 หรือ 6 แล้ว ซึ่งหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม บางคนอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อย มีไข้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายกำลังถูกกระตุ้นจากวัคซีน แต่บางคนอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่าแพ้วัคซีนขึ้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการฉีดวัคซีนภายใน 30-60 นาทีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ผื่นแดง, ลมพิษ, คลื่นไส้ อาเจียน, ความดันต่ำ, ลิ้น ปาก คอบวม, หายใจติดขัด, หัวใจเต็นเร็ว, พูดไม่ชัด ฯลฯ
ทั้งนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ได้ออกประกาศรับรองการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง), สิทธิประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ, สวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือสิทธิการรักษาพยาบาลอื่นๆ สามารถยื่นคำร่องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขสภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ที่ทราบความเสียหาย ซึ่งการไม่พิสูจน์ถูก-ผิดนี้ ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว
เงื่อนไขการยื่นคำร้อง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เผยว่า ในกรณีที่มีอาการข้างเคียงชั่วคราว แต่ไม่แน่ใจว่าเจ็บป่วยต่อเนื่องหรือไม่ ก็ให้ยื่นเรื่องเข้ามาก่อน อย่าเพิ่งตัดสินเอง เพราะคำว่าต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นอาการชา บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือน ดังนั้นจึงไม่อยากให้ตัดสินจากเวลา เพราะมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณา ดังนั้นหากสงสัยว่าอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ยื่นเรื่องเข้ามา
โดยผู้มีสิทธิยื่นคำร้องจะต้องเป็นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย หรือทายาท, กรณีไม่มีทายาท ผู้อุปการะให้ตวามช่วยเหลือ หรือดูแลผู้รับบริการต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ สามารถยื่นคำร้องแทนได้
เอกสารการยื่นคำร้องจะประกอบด้วย
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาใบมรณบัตรของผู้รับบริการ กรณีที่เสียชีวิต
– ความเห็นแพทย์ผู้ให้การรักษา และการหยุดพักงาน
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำร้องได้ที่โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาพื้นที่ (13 เขตทั่วประเทศ)
ผ่านพิจารณาโอนเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วัน
ซึ่งกระบวนการพิจารณานั้น คณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. จะพิจารณาคำร้อง และลงมติว่า เห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าไร ในกรณีที่จ่าย สปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติ แต่หากไม่เห็นด้วย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
ขณะที่อัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
– เสียชีวิต / ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท
– เสียอวัยวะ / พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท
– บาดเจ็บ / บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท
ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟฟิก : Varanya Phae-araya