- ผู้ป่วยเล่าความทุกข์ทรมานของ “โรคใหลตาย” ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และไม่รู้จะจากไปวันไหน ใครบอกเป็นบุญ จากไปแบบไม่ทรมาน แต่ผู้ป่วยบอก มันคือ ความทุกข์ ต้องใช้ชีวิตเหมือนทุกวันเป็นวันสุดท้าย
- ภาวะป่วยโรคใหลตาย (Brugada syndrome) โรคทางพันธุกรรม อาการที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์
- การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ รักษาโรคใหลตาย ข้อห้ามสำหรับผู้ป่วย ช่วยเชฟชีวิตได้ระดับหนึ่ง
จากกรณี พระเอกหนุ่มดาวรุ่ง “บีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์” ถูกพบเสียชีวิตกะทันหัน ด้วยวัย 26 ปี หลังมีรายงานว่านักแสดงหนุ่มนอนหลับปกติ แล้วทางญาติพยายามปลุกแต่ไม่ตื่น จึงได้นำส่งโรงพยาบาล พยายามกู้ชีพแต่ไม่เป็นผล ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต ณ ตอนนั้น คาดว่าน่าจะมาจากการ “ใหลตาย” แต่ต่อมาผลชันสูตรเบื้องต้นคือ ระบบโลหิตและการหายใจล้มเหลว สร้างความเสียใจต่อแฟนคลับและคนใกล้ชิดเป็นอย่างมาก
จากประเด็นสุดเศร้าดังกล่าว ได้มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น “โรคใหลตาย” เป็นจำนวนมาก ทั้งบอกว่า โรคนี้โชคดีตายไม่ทรมาน, เป็นโรคของคนมีบุญที่จะได้ตายแบบนี้ รวมทั้งบอก ขอเสียชีวิตด้วยโรคใหลตายแบบนี้
แต่เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณบี สาวอายุ 28 ปี ผู้ป่วยโรคใหลตาย เผยข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเผชิญ ว่า จริงๆ คนที่มีภาวะป่วยโรคใหลตาย (Brugada syndrome) ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว ซึ่งโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ละคนในครอบครัวจะได้รับยีนนี้มาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ได้รับยีนมาจะเป็นโรคนี้ด้วย โดยประวัติครอบครัวของตนมีคุณปู่ คุณตา และน้องสาวของคุณตา ทั้ง 3 คน เสียชีวิตด้วยโรคนี้
จนเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว พบว่าตัวเองป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (wolf parkinsons white syndrome) เป็นภาวะที่มาทางพันธุกรรม จึงไปรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ หลังจากนั้นอาการเหมือนจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ ซึ่งตอนที่ไปรักษาจี้หัวใจทำให้รู้ว่าตำแหน่งหัวใจอยู่ตรงไหน แล้วรู้สึกเหมือนมีอาการบอบช้ำอยู่บริเวณนั้น รวมทั้งกลับมามีอาการเหนื่อยง่ายเหมือนก่อนไปรักษา คือแค่เดินขึ้นบันไดจากชั้น 1 ไปชั้น 2 หัวใจจากเต้นปกติที่ 80 ก็จะพุ่งไปถึง 130
ดังนั้นจึงตัดสินใจกลับไปตรวจอีกรอบ แต่คุณหมอคนที่รักษาบอกว่า ปกติแล้ว เลยให้ยาคลายกังวลมากินแทน ซึ่งตัวเราเองรู้สึกว่ามันไม่ปกติ แต่ก็คิดอีกมุมว่า อาจจะคิดมากไปเอง กระทั่งมีคืนหนึ่ง จู่ๆ พบว่าหัวใจกระตุก ใจสั่น มีอาการหวิวๆ ในขณะที่เรากำลังนั่งป้อนข้าวลูกอยู่ ทั้งที่ไม่ได้เหนื่อยอะไร จึงตัดสินใจไปแอดมิตไอซียู ที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง
ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยแจ้งแพทย์ที่รักษาหัวใจทุกที่ที่เคยไปแล้วว่า คนในครอบครัวเป็นโรคใหลตาย แต่แพทย์ก็ไม่เคยตรวจอย่างละเอียด กระทั่งเจอคุณหมอคนปัจจุบัน หลังจากแจ้งไป แพทย์ก็ทำการตรวจโรคนี้ให้เลย ซึ่งเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG หรือ (Electrocardiogram) เฉพาะของโรค Brugada syndrome แล้วผลก็ออกมาว่าเราเป็นโรคนี้จริงๆ
หลังจากทราบว่าเป็นโรคนี้ ตนรู้สึกเครียดขึ้น มีหลายคนมาบอกว่า โรคนี้ดี ตายแบบคนมีบุญ ไม่เจ็บไม่ปวด แต่จริงๆ แล้วโรคนี้จะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เพราะผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่รู้สึกอะไรเลย เหมือนนอนหลับไปเฉยๆ ถ้าอาการกำเริบขึ้นภายใน 30 วินาที จะหมดสติเพราะเป็นอาการเต้นของหัวใจห้องล่าง เหมือนแทนที่หัวใจมันจะบีบเลือดเป็นจังหวะ แต่มันไม่บีบ กลายเป็นสั่นแทน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอแล้วขาดออกซิเจน จากนั้นเมื่อหมดสติไปประมาณ 4 นาที สมองก็จะตาย โดยรวมประมาณ 6 นาที ถ้ายังกู้ชีพขึ้นมาไม่ได้ ก็เสียชีวิต
ส่วนตัวคิดว่า อันนี้ไม่ใช่โรคของคนมีบุญ ถ้าคนมีบุญจริงๆ ต้องไม่รู้มาก่อนว่าจะตายแบบนี้ เวลาถามคนที่บอกว่าอยากตายด้วยโรคนี้ตอนอายุเท่าไหร่ ก็จะตอบกันว่าประมาณ 70-80 ปีแล้วกัน ซึ่งความจริงคือมันเลือกไม่ได้ อาจจะเป็น 10 ปีข้างหน้า ปีหน้า เดือนหน้า หรือแม้กระทั่งวันนี้ก็ได้ เพราะมันไม่มีสัญญาณเตือนอะไรทั้งสิ้น
ฝังเครื่องกระตุกหัวใจ รักษาโรคใหลตาย
เมื่อหมอเจอว่าเป็นโรคใหลตาย จากนั้นหมอให้ตรวจสรีระหัวใจ คล้ายการจี้หัวใจแต่เป็นการสอดสายเข้าไปกระตุ้น เนื่องจากหมอต้องการดูว่าปัญหาหัวใจในปัจจุบันที่รบกวนการใช้ชีวิตทั้งเจ็บหัวใจ แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว มันเกิดมาจากตัวไหน ก็พบว่าตัวหัวใจเต้นผิดจังหวะตัวแรกที่รักษาไปยังมีอาการอยู่ และก็นำไฟฟ้าได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นอาการที่เผชิญอยู่ทุกวันนี้ จึงมาจากภาวะใหลตาย
ส่วนผลกระทบที่เจอคือแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกแบบแปลกๆ เคยตรวจมาหมดแล้ว ทั้งวิ่งสายพาน, ตรวจ ECO หัวใจ, MRI, ฉีดสี คือโครงสร้างหัวใจปกติหมดเลย ไม่มีหลอดเลือดตีบ, ไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย คุณหมอจึงแจ้งว่าอาการทั้งหมดมาจากภาวะนี้ ที่อาจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลกๆ ได้ โดยคุณหมอเป็นหมอหัวใจมา 10 กว่าปี เพิ่งเคยเจอผู้หญิงป่วยด้วยโรคนี้เป็นรายที่ 2 คือผู้หญิงรายแรกพี่ชายเขาเสียชีวิตด้วยโรคใหลตาย จึงมาหาแล้วตรวจเจอ จึงฝังเครื่องกระตุกหัวใจเหมือนกับเรา
สำหรับการฝังเครื่องกระตุกหัวใจ เป็นการผ่าตัดใส่เครื่องเข้าไปในร่างกาย ซึ่งตอนผ่าตัดไม่ใช้ยาสลบ แต่ฉีดยาชา จากนั้นแพทย์จะทำการกรีดบริเวณใต้ไหปลาร้า ตอนนั้นรู้ตัวทุกอย่าง วินาทีนั้นค่อนข้างรู้สึกแย่ ถือเป็นครั้งแรกที่ร้องไห้ในห้องผ่าตัด ด้วยความที่มีลูก ทำให้กลัวไปหมด
หลังจากฝังเครื่องกระตุกหัวใจ ก็ยังมีอาการไม่ชิน เพราะมีขนาดใหญ่เท่า 1 ใน 3 ของฝ่ามือ ถ้าจับก็จะรู้ว่าอันนี้คือตัวเครื่องเพราะมันแข็งๆ ถ้าโดนแรงหน่อยก็เจ็บ ซึ่งแต่ละรุ่นความนานของแบตเตอรี่ก็ไม่เท่ากัน เครื่องจะอยู่ได้นานขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการโดนช็อตว่าบ่อยแค่ไหน บางรายไม่โดนช็อตเลยอาจจะอยู่ได้นาน 10 ปี แต่ถ้าคนที่โดนช็อตบ่อย อาจจะอยู่ได้ประมาณ 5-7 ปี โดยหลังทำมา คุณหมอจะนัดตรวจทุก 4 เดือน เพื่อเช็กการทำงานของเครื่องว่าเป็นยังไง มีอาการอะไรไหม แบตเตอรี่ของเครื่องเหลือเยอะไหม สมควรเปลี่ยนหรือยัง
ส่วนอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ใจสั่น ก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต เพียงแค่เครื่องกระตุกหัวใจจะช่วยเซฟชีวิตเวลาเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องก็จะช็อตทันทีเพื่อไม่ให้เราเสียชีวิต ส่วนข้อห้ามที่หมอสั่งคือไม่ควรเป็นไข้ โดยเฉพาะไข้สูง ไม่ควรดื่มแอลกฮอล์ เพราะจะทำให้ปัสสาวะบ่อย สูญเสียน้ำในร่างกายเยอะ อาจทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำลงระดับหนึ่ง แล้วไปกระตุ้นอาการใหลตายได้ รวมทั้งไม่ควรท้องเสีย ไม่อยู่ในอากาศร้อนๆ แล้วเหงื่อออกเยอะ คือต้องห้ามให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
ความทรมานของโรคใหลตาย
เป็นเรื่องของ จิตใจ หลายคนบอกมีบุญ อยากตายแบบนี้ ก็อยากบอกว่า คนที่เขาเป็นโรคนี้จริงๆ เขาไม่ได้อยากตายนะ ชีวิตเขาแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้ว่าคืนไหนเส้นด้ายบางๆ จะขาด เขาอาจจะโชคดีเดินไปได้ถึงปลายทางอายุ 70-80 ปี หรือ อาจจะโชคร้ายเสียชีวิตในคืนนี้ ซึ่งมันไม่สามารถบอกได้จริงๆ ว่าจะตายเมื่อไร มันคือความทุกข์ของคนที่ป่วยโรคนี้
และด้วยความที่เรามีลูก ไม่รู้ว่าถ้าวันนี้ไม่ตื่นขึ้นมาลูกจะอยู่ยังไง เขาอาจจะโอเคอยู่กับพ่อได้ แต่ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจว่าแม่หายไปไหน เกิดอะไรขึ้น ด้วยความที่ลูกติดแม่มากๆ ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับเราเหมือนกัน เพราะถ้ายังไม่มีลูกก็คงไม่กลัว จะใช้ชีวิตทุกวันให้เหมือนเป็นวันสุดท้าย ถ้าวันไหนตายก็ตาย แต่ถ้าฟื้นก็ถือเป็นกำไรชีวิต แต่พอมีลูกทุกอย่างมันไม่ง่าย แค่เห็นหน้าลูกก็ร้องไห้ทุกวัน จนลูกต้องเป็นฝ่ายปลอบใจแทน
ฝากกำลังใจถึงคนที่ป่วยโรคนี้
อยากให้คนรอบข้างแสดงออกให้พวกเขาเห็นว่า พร้อมที่จะช่วยชีวิตเขาจริงๆ อย่างน้อยก็ควรเรียนรู้วิธีการทำ CPR การกู้ชีพ การช่วยชีวิต และเตรียมเบอร์ฉุกเฉิน เตรียมข้อมูลไว้ให้พร้อม เผื่อวันไหนเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ จะได้ตั้งรับได้ทัน เพราะเมื่อเกิดเหตุจะมีเวลาแค่ประมาณ 4 นาทีในการช่วยชีวิต เคยบอกสามีไว้ว่าถ้าหลังจาก 4 นาทีไปแล้วไม่ต้องช่วยนะ เพราะสมองตายแล้ว ต่อให้ฟื้นขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าต้องนอนเป็นผักก็ไม่อยากเป็นแบบนั้น
แต่ทุกวันนี้รู้สึกโอเคขึ้นเยอะ ตั้งแต่ฝังเครื่องกระตุกหัวใจ เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่ายังมีเครื่องนี้ที่จะคอยช่วยชีวิต และพยายามทำทุกวันให้ดีที่สุดเหมือนเป็นวันสุดท้ายจริงๆ รวมทั้งวางแผนเรื่องการเงินให้ละเอียดขึ้น เผื่อวันหนึ่งที่ไม่อยู่ลูกจะได้อยู่ได้ และถ้าตายก็ไม่ต้องการให้สามีหรือคนในครอบครัวเอาเงินเขามาลงในงานศพเรา ซึ่งก็เลือกที่จะเก็บเงินทุนสักก้อนไว้ เพราะอย่างน้อยเงินตรงนี้จะได้เอาไปจัดงานศพ ในวันที่เราไม่อยู่แล้วได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้ ฝากถึงคนที่มีสมาชิกในครอบครัวก็เสียชีวิตด้วยภาวะโรคใหลตาย หรือ นอนหลับเฉยๆ แล้วเสียชีวิต หลายคนไม่รู้ว่ามันเป็นโรคพันธุกรรม ซึ่งต้องได้รับการตรวจเหมือนกัน เพื่อรับการรักษาต่อไป.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB