รายงานฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ประเมินว่ามีประชาชนหลายแสนคนจากทั่วโลก ถูกค้ามนุษย์ บังคับให้มาทำงานกับเครือข่ายอาชญากรรมทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวเลขของยูเอ็นระบุว่า เหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้อยู่ในเมียนมาอย่างน้อย 120,000 คน และในกัมพูชาอีก 100,000 คน พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต หรือที่คนไทยมักเรียกอาชญากรรมแบบนี้ว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
เหยื่อส่วนมากเป็นผู้ชายจากภูมิภาคเอเชีย แต่ก็มีบางส่วนที่มาจากแอฟริกา และละตินอเมริกา
แม้อาชญากรรมออนไลน์จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว แต่รายงานฉบับล่าสุดยูเอ็น นับเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมในระดับนี้เป็นครั้งแรก และเป็นการศึกษาแรกที่ระบุเกี่ยวกับจำนวนของเหยื่อที่ถูกบังคับให้ทำงานกับเครือข่ายอาชญากรรมออนไลน์ในภูมิภาคนี้
รายงานของยูเอ็นระบุว่า การชัตดาวน์หรือปิดเมืองจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่บีบให้ผู้คนหลายล้านต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านและใช้เวลาทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ประชาชนเหล่านี้ตกเป็นเป้าหมายของผู้บงการที่วางแผนฉ้อโกงทางออนไลน์
แต่เดิมแก๊งอาชญากรรมมักจะมองหาเหยื่อที่มีการศึกษาไม่สูงนักและต้องการหาเงินได้ไว ๆ แต่ตอนนี้ เป้าหมายกลายเป็นเหยื่อที่มีงานทำ เหยื่อที่จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีหรือปริญญาโท
สถานที่หลายแห่งที่เหยื่อถูกบังคับให้ก่ออาชญากรรมไซเบอร์กับขบวนการเหล่านี้ อยู่ในประเทศที่การปกครองและการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ และมีการท้าทายอำนาจของรัฐ
“ในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกหลอกจากอาชญากรรมทางออนไลน์ เราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน เพราะว่ามีเหยื่อถึง 2 กลุ่ม” โฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุ
ยูเอ็นประเมินว่า ศูนย์กลางของอาชญากรรมฉ้อโกงเหล่านี้สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีเลยทีเดียว
สื่อหลายสำนักรวมทั้งบีบีซี ได้พูดคุยกับเหยื่อที่ถูกหลอกเข้าไปทำงานให้กับเครือข่ายอาชญากรรม โดยมากเหยื่อเหล่านี้ถูกลวงจากโฆษณาที่อ้างว่าให้ไปทำงานง่าย ๆ รายได้ผลตอบแทนสูง หลังจากนั้นก็ล่อลวงให้เข้าไปทำงานในกัมพูชา เมียนมา และประเทศไทย
เมื่อเหยื่อเดินทางไปถึงจะถูกคุมขังและบังคับให้ทำงานในสำนักงานของแก๊งหลอกลวงทางออนไลน์ ใครไม่ยอมทำงานให้ก็จะถูกคุกคามให้เกิดอันตราย หลายคนยังถูกทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม
นอกจากนี้ขบวนการอาชญากรรมบางเครือข่ายยังล่อลวงเหยื่อโดยใช้วิธีการเชิงชู้สาว ที่เรียกว่า การ “หลอกเชือดหมู” (pig-butchering) ทำให้เหยื่อตายใจ
คดีตัวอย่างของกลลวงนี้เกิดเมื่อปีที่แล้ว เมื่อชายชาวมาเลเซีย อายุ 25 ปี ถูกทรมานจนเสียชีวิต ภายหลังเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อพบกับแฟนสาวที่เขารู้จักจากการพูดคุยทางออนไลน์เท่านั้น
เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ชายชาวมาเลเซียรายนี้กลับถูกพาตัวไปที่ประเทศเมียนมา และถูกบังคับให้ทำงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางออนไลน์
ในสายโทรศัพท์ครั้งท้าย ๆ ที่โทรกลับไปหาพ่อแม่ที่มาเลเซีย เขาระบุว่าถูกทุบตีจากการโดนกล่าวหาว่าแกล้งป่วย ต่อมาเขาลงเสียชีวิตภายหลังต้องรักษาตัวในห้องไอซียูเป็นเวลาหลายเดือน
ยูเอ็นระบุว่า กฎหมายที่มีอยู่ในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และล้มเหลวอย่างมากในการตอบโต้กับปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ที่พัฒนารูปแบบวิธีการมากขึ้น นับตั้งแต่การระบาดของโควิด
เปีย โอเบโรอิ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการย้ายถิ่นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ยังมีเหยื่ออีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนับรวมในรายงาน เพราะเหยื่อเหล่านี้เผชิญกับบาดแผลและความละอายใจ กับงานที่พวกเขาถูกหลอกล่อให้ทำ
รายงานของยูเอ็นเสนอด้วยว่า การแก้ปัญหาที่เหมาะสม ” ไม่เพียงแต่จัดการกับกลุ่มอาชญากรหรือการบังคับใช้การควบคุมพื้นที่ชายแดนให้รัดกุมเท่านั้น” แต่ควรดำเนินการปกป้องและให้ความยุติธรรมกับเหยื่อที่ถูกค้ามนุษย์ล่อลวงไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ด้วย
โฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ มุ่งมั่นในการปราบปรามเครือข่ายอาชญากรเหล่านี้
“รัฐที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจำเป็นต้องมีเจตจำนงทางการเมืองในการทำให้สิทธิมนุษยชนเข็มแข็งและปรับปรุงการปกครองและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและยั่งยืน”