มนุษย์ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิต นอกจากอุปกรณ์พกพาจำนวนมากแล้ว สมาร์ทโฟนหรือเครื่องติดตามการออกกำลังกายแบบสวมข้อมือก็ยังมีตัวเซ็นเซอร์วัดค่าด้านสุขภาพ เช่น ชีพจร ความอิ่มตัวของเลือด ด้วยออกซิเจน การปรากฏตัวของอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้ชีวิตของคนเราสะดวกสบายง่ายขึ้น
ล่าสุด ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมีนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้พัฒนาเทคโนโลยีไบโอเซ็นเซอร์แบบใหม่ที่สามารถเปลี่ยนผ้าเสื้อผ้าให้เป็นไบโอเซ็นเซอร์ สำหรับวัดกิจกรรมทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อขณะสวมใส่ ทีมได้คิดค้นวิธีการทอผ้าธรรมดาที่ทำจากผ้าฝ้ายและโพลีเอสเตอร์ โดยผสมและเปลี่ยนผ้าให้เป็นเซ็นเซอร์ที่วัดแรงกระตุ้นไฟฟ้าอันเกิดจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นวิธีวัดกิจกรรมของกล้ามเนื้อเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายที่ดีกว่าเดิมๆ หรืออาจนำไปใช้ในงานการแพทย์อื่นๆ เพราะโดยปกติแล้วเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่สวมใส่บนผิวหนัง บางครั้งก็อาจไม่ได้ผล สร้างความกังวล มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายสูงในการผลิต
กระบวนการทำงานของไบโอเซ็นเซอร์แบบใหม่ จัดว่าทนทานต่อรอบการซักซ้ำในเครื่องซักผ้า ซึ่งทีมได้ลองใช้เสื้อผ้าที่ผ่านการซัก 15 ครั้ง พบว่าไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ วิธีการใหม่นี้จะช่วยให้แพทย์รวบรวมสัญญาณไฟฟ้าของกล้ามเนื้อได้ระยะยาวและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้รับความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความคืบหน้าของผู้ป่วยและผลการรักษาของพวกเขาเมื่อเวลาผ่านไป
Credit : Huanan Zhang/University of Utah