9 สิงหาคม 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,603 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,278 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,119 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,159 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 313 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 776,108 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 19,819 ราย หายป่วยสะสม 555,334 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 214,421 ราย อาการหนัก 5,218 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,084 ราย
มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 149 ราย เป็นชาย 84 ราย หญิง 65 ราย พบใน กทม.มากสุด 54 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 20 ราย มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 26 ราย อยู่ที่ กทม. 24 ราย ชลบุรี 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ในกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี และมีโรคเรื้อรังรวมกันถึง 84% มีทารกอายุ 4 เดือน 1 ราย เป็นชาวเมียนมา ที่ จ.สมุทรปราการ ทำให้ขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตสะสม 6,353 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 8 ส.ค. มีการฉีด 191,145 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 20,669,780 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 203,441,157 ราย เสียชีวิตสะสม 4,307,387 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หารือถึงกรณีเด็กเสียชีวิต เนื่องจากวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา มีทารกอายุ 14 วัน เป็นชาวเมียนมา เสียชีวิตที่ จ.เพชรบูรณ์ และมีข้อมูลเข้ามาว่าที่ผ่านมามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 3 หมื่นกว่าราย เสียชีวิตถึง 9 ราย 8 ใน 9 มีโรคประจำตัว กรมควบคุมโรคจึงเน้นย้ำ กรณีที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน ขอให้แยกห้องนอนผู้สูงอายุ หากบ้านมีพื้นที่จำกัดให้ใช้ฉากกั้นและให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงให้หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ลูกบิดประตู ราวบันได ส่วนกรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง แนะนำให้คนที่ออกจากบ้านน้อยที่สุดเป็นผู้ดูแลคนเดียว และต้องสวมหน้ากากอนามัย หากผู้ป่วยติดเตียงไม่มีอาการทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 ก.ค. – 7 ส.ค. พบผู้เสียชีวิต 2,417 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 838 ราย เป็นผู้รับวัคซีนไปแล้ว 1 เข็มโดยระยะติดเชื้อน้อยกว่า 2 สัปดาห์ 149 ราย เป็นผู้ได้รับวัคซีนเกิน 2 สัปดาห์และมีการติดเชื้อ 82 ราย เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 13 ราย คิดเป็นตัวเลข 0.5% กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ เพราะการเสียชีวิตในกลุ่มที่รับวัคซีน 2 เข็มมีเพียง 0.5%