สบยช.เตือนนักเที่ยว ระวังยาอีหมีพูห์ ใช้ปลุกเซ็กซ์เสียสาวพ่วงยานอนหลับ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

สบยช.เตือนนักเที่ยว ระวังยาอีหมีพูห์ ใช้ปลุกเซ็กซ์เสียสาว ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ยิ่งใช้ร่วมกับยานอนหลับ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.65 สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกโรงเตือนภัยยาอีโฉมใหม่รูปการ์ตูน “หมีพูห์” สีเหลือง ออกฤทธิ์รุนแรง ยิ่งใช้ร่วมกับยานอนหลับระวังอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวการตรวจยึดยาเสพติดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นยาอีลักษณะเป็นเม็ดในรูปแบบตัวการ์ตูน “หมีพูห์” สีเหลือง พร้อมยานอนหลับชนิดรุนแรง ในพื้นที่ จ.นครพนม นั้น

สำหรับ ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน มีฤทธิ์หลอนประสาทและกระตุ้นประสาท จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี มีทั้งที่เป็นแคปซูลและเป็นเม็ดยาสีต่างๆ นิยมใช้ในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน เมื่อเสพยาอีเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง

โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

ในส่วนของยานอนหลับชนิดรุนแรงที่พบ จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้หลับและเป็นยาที่ไม่มีในบัญชียาของ สธ. คาดว่าจะนำยาทั้ง 2 ชนิดที่ตรวจพบมาเสพร่วมกันเพื่อให้ออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น

ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีหมีพูห์และยานอนหลับที่ตรวจพบเป็นยาเสพติดที่เป็นอันตราย ในส่วนของยาอีจะเข้าไปทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ

โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติ ทำให้สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมอง หดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ การที่สารซีโรโทนินลดลง จะทำให้การนอนหลับผิดปกติ เวลาการนอนลดลง หลับไม่สนิท อ่อนเพลีย ขาดสมาธิในการเรียนและทำงาน เตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักเที่ยวในสถานบันเทิงที่นิยมใช้สารเสพติด เพื่อต้องการให้เกิดอาการมึนเมาและสนุกสนานมากขึ้น ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะตามมา ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี

และโรงพยาบาล (รพ.) ธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี รพ.ธัญญารักษ์สงขลา และ รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี