หนุ่มร้องยธ.ถูกหลอกทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในปอยเปต จับขังตึกรั้วไฟฟ้า ใครไม่ทำงานถูกซ้อมทรมาน หนีรอดกลับไทยได้ แฉมีนายหน้าชาวจีนอยู่เบื้องหลัง
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม รับเรื่องร้องทุกข์กรณี น้องบี (นามสมมติ) ที่ถูกหลอกให้ไปทำงานคอลเซ็นเตอร์แบบผิดกฎหมาย ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ระยะเวลา 4 เดือน จากเพจหางานในปอยเปต และถูกทำร้ายร่างกาย
กระทั่งขอความช่วยเหลือไปยังเพจสายไหมต้องรอด จนทำให้หนีรอดกลับมาไทยได้ในที่สุด และยังโดนโทรมาข่มขู่ นอกจากนี้ ยังมีคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จากขบวนการดังกล่าวอยู่อีกด้วย จึงมาร้องขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรม
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต เปิดเผยว่า เหยื่อถูกหลอกลวงเพราะหลงเชื่อว่าจะได้ค่าตอบแทนถึงเดือน 40,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นการข้ามไปทำงานแบบผิดกฎหมายด้วย เพราะไม่ต้องใช้พาสสปอร์ตแต่อย่างใด ใช้เวลาเพียง 15 นาที ก็ผ่านขั้นตอนทั้งหมดตามเส้นทางธรรมชาติ โดยมีนายหน้าชาวไทยเป็นคนติดต่อ ก่อนส่งให้แก๊งค้ามนุษย์มาเฟียชาวจีนที่ประเทศกัมพูชา และถูกพาไปกักตัวไว้ในอาคารมีรั้วไฟฟ้าป้องกันมิดชิด หากใครไม่ทำจะถูกซ้อมทรมานจนถึงแก่ความตาย
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวต่อว่า กระทั่งผ่านไป 1 เดือน เหยื่อได้รับอนุญาตให้ออกมาซื้อของข้างนอกได้ จึงใช้โอกาสนี้แอบติดต่อขอความช่วยเหลือกับครอบครัว ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เริ่มต้นจากไทยต่อเนื่องไปยังต่างประเทศ และยังมีคนที่หลงเชื่อถูกหลอกอีกกว่า 100 คน จากการสอบถามพบว่า มีเงินได้จากการหลอกลวงนี้ไหลเข้าบริษัทดังกล่าววันละ 2-3 ล้านบาท โดยมีนายหน้าและตัวบงการเป็นชาวจีนอยู่เบื้องหลัง
“ผมประสาน พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม. เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ เพื่อดำเนินคดีกับแก๊งค้ามนุษย์ ส่วนกระทรวงยุติธรรมจะทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นให้ได้” ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าว
เลขานุการรมว.ยธ. กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะเข้าไปช่วยในเรื่องการคุ้มครองพยาน เพื่อให้เหยื่อได้รับความปลอดภัย รวมถึงสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย
นอกจากนี้ เรายังสืบทราบจนรู้ว่ามีคนไทยที่เข้าร่วมขบวนการค้ามนุษย์ด้วย ซึ่งเราจะต้องสืบทราบเส้นทางการเงินของบุคคลเหล่านี้ด้วย เพื่อหาต้นตอ อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากถึงประชาชนว่า ควรมีสติคิดรอบคอบก่อนรับตกลงทำงานใดๆ ไม่ว่าจะมีใครส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือก็ตาม ต้องเช็คให้มั่นใจก่อนว่า บริษัทดังกล่าวมีอยู่จริง มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือสามารถโทรสอบถามสายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77