สปสช.อัปเดตแนวทางล่าสุดสำหรับปชช.ที่ติดเชื้อโควิด ต้องทำอย่างไรเป็นอันดับแรก หลังทราบผลตรวจ
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เผยแพร่แนวทางสำหรับประชาชนที่ตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 ต้องปฏิบัติอย่างไร โดยระบุขั้นตอนต่างๆไว้ดังต่อไปนี้
1.ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องให้ตรวจยืนยันซ้ำด้วย RT-PCR)
ดำเนินการต่ออย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
ก.โทรศัพท์
– ต่างจังหวัด สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเกี่ยวกับโควิด-19 ประจำอำเภอหรือจังหวัด (ดูรายละเอียดที่เฟสบุ๊กหรือเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด
– กทม. โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือ โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si
– สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 (ส่งให้สถานพยาบาลคัดกรองเบื้องต้น)
ข.ไปโรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน
– สิทธิบัตรทอง รักษาทุกที่ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต
– ตัวอย่างหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
– สิทธิประกันสังคม ไปโรงพยาบาลตามสิทธิของท่านหรือโรงพยาบาลที่ท่านลงทะเบียนเลือกไว้
– สิทธิข้าราชการ ไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลภาครัฐ
A.หากพบว่าไม่มีภาวะเสี่ยง
จะเข้าสู่ระบบการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 คือ รักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามแนวทาง “เจอ-แจก-จบ” จะได้รับการจับคู่กับสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก ด้วยระบบ tele-health ดังนี้
แยกกักตัวที่บ้าน 10 วัน
– จ่ายยาตามอาการ
– โทรติดตามอาการ (ครั้งเดียว 48 ชั่วโมง)
– ระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง
– ไม่ได้รับอาหาร ไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมิน เช่น เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
*** แนวทาง “เจอ แจก จบ” คือ***
หลังจากผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ ATK แล้วหากพบผลเป็นบวก (เจอ) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร (แจก) ได้แก่
1.ยาฟ้าทะลายโจร
2.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก
3.ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง (จบ)
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ที่ได้รับการประเมินว่าไม่มีอาการแต่ยืนยันว่าต้องการเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ตัดสินใจร่วมกับสถานพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และได้รับการดูแลตามระบบได้เช่นเดียวกัน
B.ประเมินอาการแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง แบ่งอาการเป็น 3 กรณีดังนี้
– ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ
จับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อเข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) กรณีสภาพบ้านไม่พร้อมเข้าระบบการรักษาโดยชุมชนหรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ได้รับการดูแลแบบ tele-health แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากกำลังใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องหยุดฟ้าทะลายโจรก่อน มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง (โทร.ติดตามอาการ, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, ส่งอาหารถึงบ้าน)
– ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ และ 3.ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงมาก
***สองกลุ่มนี้แพทย์จะพิจารณารับการรักษาในโรงพยาบาล และพิจารณาให้ยารักษาที่มียาชนิดตามความเหมาะสม***
2.กรณีตรวจ ATK แล้วผลตรวจเป็นลบ ขึ้น 1 ขีด
– ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT/Self Quarantine การแยกเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย
– ตรวจ ATK ซ้ำเมื่อครบ 7 วันหรือเมื่อมีอาการ หากผลเป็นบวก ดำเนินการตามข้อ 1 หากผลเป็นลบ Self Quarantine อีก 3 วัน และ DMHTT
*** DMHTT คือแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ในการชะลอการระบาดของ โควิด-19 คือ อยู่ห่างไว้, ใส่มาก์สกัน, หมั่นล้างมือ, ตรวจให้ไว, ใช้ไทยชนะ และหมอชนะ
3.ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายเดิม ก่อน 1 มี.ค.65 ที่ลงทะเบียนเข้าระบบการรักษาที่บ้าน แต่ยังไม่ได้รับการจับคู่กับสถานพยาบาล
– กรณีไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย ดำเนินการตามข้อ ข. คือ ไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อรับบริการตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข “เจอ-แจก-จบ”
– กรณีมีอาการ เข้ารักษาตามระบบ Home Isolation
– กรณีมีอาการรุนแรง ส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
ภาพจาก : AFP
ข้อมูลจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ