อุตสาหกรรมบันเทิงไทย กลายเป็นสินค้าดิจิทัลดังไปไกล เพราะไม่มีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ในช่วงการระบาดโควิด-19
ปรากฏการณ์ภาพยนตร์ และซีรีส์ไทยเป็นที่ยอดนิยมในเม็กซิโก ศูนย์กลางการค้าในอเมริกาใต้ ได้กลายเป็นอำนาจละมุน (ซอฟพาวเวอร์) ที่ปลุกกระแสวัฒนธรรมบันเทิงไทย หรือ ที-ป๊อป ให้ครอบคลุมไปทั่วละตินอเมริกา
‘ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ’ เอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศเม็กซิโก ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า กระแสความนิยมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในเม็กซิโกเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย และไม่คิดว่า จะติดตลาดเม็กซิโก จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในละตินอเมริกา แม้ว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ จะไม่มีวัฒนธรรมที่เหมือนไทยเลยก็ตาม
“ถ้าถามว่า วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นอุปสรรคต่อการเสพสื่อบันเทิงหรือไม่ บอกได้เลยว่า ในเม็กซิโกไม่เป็นอุปสรรค คนวัยรุ่นที่นี่เปิดรับทั้งละคร และเพลงไทย ทำให้มีทัศนะคติที่ดีต่อประเทศไทย และนิยมใช้สินค้าไทย” ไพศาล ระบุ
ธุรกิจบันเทิงไทยไปได้สวยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดไวรัส ทำให้หลายคนต้องอยู่บ้าน ส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาว่างดูภาพยนตร์และละครซีรีส์ จะเห็นว่า อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกลายเป็นสินค้าดิจิทัลดังไปไกล เพราะไม่มีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ไม่เหมือนตัวสินค้าที่จะต้องขนส่งระยะทางไกล ซึ่งเป็นอุปสรรคมากในช่วงโควิด ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมบันเทิง ยังสามารถบริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลาหรือแบบเรียลไทม์ โดยที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องเวลา และระยะทางเข้ามาเกี่ยวข้อง
“หากได้ดูในยูทูปของคนที่นี่ จะเห็นได้ว่า ชาวละตินอเมริกานิยมเพลงไทย หันมาฝึกร้องเพลงไทย หรือเพลงที่เป็นทำนองไทย แต่เนื้อร้องเป็นภาษาสเปน หรือภาษาท้องถิ่น” ไพศาลเล่า ซึ่งจากการที่สถานทูตฯ สำรวจพบว่า มีคนในแม็กซิโกไม่น้อยที่ชื่นชอบละครไทย และภาพยนตร์ไทย ถึงขั้นเคยมีคนมาติดต่อให้สถานทูตฯ ดำเนินการเพื่อนำละครไทยบางเรื่องเข้ามาฉายในแม็กซิโกด้วย
ไพศาล มองว่า ขณะนี้ วัฒนธรรมที-ป๊อป ทั้งที่เป็นภาพยนตร์ไทย และละครชุด อย่างซีรีส์ Boy’s Love : ‘New Normal’ สะท้อนถึงศักยภาพ และโอกาสของธุรกิจบันเทิงไทยในเม็กซิโก ตลอดจนภูมิภาคละตินอเมริกาได้ดีเยี่ยม
ก่อนหน้านี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ได้ร่วมมือกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี เพื่อโปรโมทละครไทยที่ได้รับความนิยมในเม็กซิโก และเผยแพร่คลิปของ ‘ไบร์ท’ วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ ‘วิน’ เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร นักแสดงนำจากละคร “เพราะเราคู่กัน” ผ่านทางเฟซบุ๊คของสถานทูตฯ พบว่า มีผู้ชมจากทั่วภูมิภาคละตินอเมริกาเข้ามากดไลน์จนถึงปัจจุบันมากกว่า 200,000 คน และมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์คลิปกว่า 20,000 ครั้ง
สังคมไทยเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์ จะเห็นว่า ดาราไทยมีหน้าตาที่หลากหลาย แตกต่างจากญี่ปุ่น เกาหลี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียว ทำให้ดารามีหน้าตาคล้ายกันแบบพิมพ์นิยม ขณะที่ดาราไทยที่ดังๆในที่นี้ก็มี ณเดช, มาริโอ้ , มิว ศุภศิษฏ์ ดึงดูดแฟนคลับทั้งหน้าตา และความสามารถในการแสดง นอกจากนี้ บทละครไทยสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ และมีผู้ผลิตอยู่หลายค่าย ทำให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาธุรกิจบันเทิงไทยที่มีคุณภาพ และหลากหลายให้สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มผู้บริโภคในเม็กซิโก
“คิดว่า คนไทยเก่งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว และสามารถสู้เกาหลี จีน ญี่ปุ่นได้ บนพื้นที่ฐานที่ว่า ธุรกิจบันเทิงไทยไม่มีข้อจำกัดทางสังคม ที่จะตีกรอบความคิดเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมการบันเทิงไทยให้ดียิ่งขึ้น” เอกอัครราชทูตไพศาลกล่าว
ทางสถานเอกอัครราชทูตวางแผนไว้ว่า จะจัดนิทรรศการละครหรือภาพยนตร์ไทยในเม็กซิโก เพื่อเชื่อมโยงความประทับใจของคนที่นี่กับการท่องเที่ยวไทย เพราะหลายคนหวังว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 หากกลับสู่ภาวะปกติ และเปิดประเทศแล้ว จะตามรอยซีรีส์ไทย ซึ่งตนเชื่อว่าคงมีแฟนคลับเม็กซิโกไม่น้อยที่จะเดินทางไปเที่ยวเมืองไทย เหมือนกับแฟนคลับที่คลั่งไคล้เค-ป๊อบ ที่อยากจะไปเที่ยวเกาหลีใต้
อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยปลุกการค้าและการลงทุนในยุคโควิด-19 ซึ่งก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส เม็กซิโกถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในละตินอเมริกา และเมื่อปีที่แล้วเริ่มมีโควิด การค้าอาจจะลดลงมาบ้าง แต่แม็กซิโก ก็ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในละตินอเมริกา ซึ่งเป็นแบบนี้ต่อเนื่องหลายปี เนื่องจากโครงสร้างผลิตของสองประเทศสอดคล้องกัน
การที่เม็กซิโกมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ฉะนั้นไม่แปลกใจที่สินค้าทั้งสองรายการนี้ คือ ชิ้นส่วนรถยนต์กับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งและอันดับสองของไทยมายังเม็กซิโก เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้าและจัดส่งไปยังตลาดทั่วโลก
อย่างเช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ในปีหนึ่งๆ ก็มีมูลค่าเกือบพันล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศใหญ่ๆ อย่างประเทศรัสเซีย มีมูลค่าราวพันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งก็เท่ากับมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเม็กซิโก เพราะเป็นสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมูลค่าสูง
ไพศาล กล่าวทิ้งทายว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้สร้างข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนของไทยในเม็กซิโก อาจทำได้ผ่านทางออนไลน์ และสถานทูตฯ ก็ได้กิจกรรมอีโคโมมิคโรดโชว์ไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ เมืองมอนเตร์เรย์ เมื่อ ก.ค. และเมืองกวาดาลาฮารา เมื่อ ส.ค. 64 โดยหวังว่า จะได้จัดงานอีเว้นท์แบบเห็นหน้าค่าตาได้ในเร็วๆนี้ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่กำลังอยู่ในกระแสได้ปูทางไปสู่การท่องเที่ยว และสินค้าไทยให้ได้รับความนิยมขึ้นอีก