ฮือฮา!!! เจ้าหน้าที่เพนตากอน เชื่อมี UFO ยานแม่เหล่าเอเลี่ยน ในระบบสุริยะของเรา

จนท. กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ออกรายงานใหม่ แต่ยังอยู่ในรูปแบบร่างเอกสาร เชื่อมี UFO ยานแม่ของเหล่าเอเลี่ยน อยู่ในระบบสุริยะของเรา ที่สามารถส่งยานลูกออกมาสำรวจได้บ่อยเหมือนภารกิจของนาซา

Foxnews รายงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เสนอรายงานการศึกษาวิจัยใหม่ แต่ยังอยู่ในรูปแบบของร่างเอกสาร เชื่อว่า มี UFO ซึ่งเป็นยานแม่ของมนุษย์ต่างดาว หรือเหล่าเอเลี่ยน อยู่ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา จึงทำให้สามารถส่งยานลูกออกมาสำรวจความเคลื่อนไหวของโลกมนุษย์ได้เรื่อยๆ เหมือนกับที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ส่งยานอวกาศไปสำรวจศึกษาดาวเคราะห์อื่นๆในห้วงจักรวาล

ร่างรายงานการวิจัยใหม่นี้ เขียนโดย ฌอน เคิร์กแพทริก ผู้อำนวยการสำนักงาน All-Domain Anomaly Resolution Office (AARO) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อเรียกว่า เพนตากอน และศาสตราจารย์ อับราฮัม หรืออาวี โล๊บ ประธานกองดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในสหรัฐอเมริกา โดยร่างรายงานดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่เมื่อ 7 มีนาคม 2566 และมีการโฟกัสพุ่งเป้าศึกษาในเรื่องข้อจำกัดทางกายภาพ ของวัตถุบินที่ไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้ หรือ UFO

‘วัตถุจากนอกระบบสุริยะอาจมีศักยภาพในการเป็นยานแม่ ที่ปล่อยยานลูกจำนวนมากออกมาสำรวจ ขณะที่บินผ่านโลกของเราในระยะใกล้ และโครงสร้างการปฏิบัติการไม่ต่างจากภารกิจของนาซามากนัก’ ข้อความในร่างรายงานดังกล่าว

'อูมัวมัว' วัตถุระหว่างดวงดาวจากนอกระบบสุริยะของเราชนิดแรกที่ถูกพบเมื่อตุลาคม 2560

ทั้งนี้ สำนักงาน All-Domain Anomaly Resolution Office (AARO) ถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามวัตถุในท้องฟ้า ใต้น้ำ และอวกาศ หรือติดตามวัตถุใดวัตถุหนึ่งที่สามารถเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้

ตามรายงานยังระบุสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้นาซาติดตามค้นหาวัตถุบนฟากฟ้าโดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS และพบว่า 90% ของเทหวัตถุใกล้โลกที่พบในปี 2548 มีขนาดใหญ่กว่า 140 เมตร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ทีมนักดาราศาสตร์ที่ฮาวายได้พบวัตถุระหว่างดวงดาวนอกระบบสุริยะที่ผิดปกติชิ้นหนึ่ง และตั้งชื่อว่า อูมัวมัว ซึ่งมีรูปร่างคล้ายซิการ์ แต่ดูแบนกว่า   

ทีมนักดาราศาสตร์ที่ฮาวาย ได้ตั้งชื่อวัตถุปริศนาจากนอกสุริยะนี้ว่า ‘อูมัวมัว’ หลังจากพบโดยบังเอิญเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 โดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ซึ่งนักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ในสหรัฐฯ ได้ใช้ค้นหาดูดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายต่อโลก โดยอูมัวมัว เป็นภาษาของชนพื้นเมืองบนเกาะฮาวาย หมายถึง หน่วยลาดตระเวนหรือหน่วยสังเกตการณ์

อูมัวมัวถูกจัดให้เป็นวัตถุระหว่างดวงดาวนอกสุริยะ ที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก (Interstellar Object) อีกทั้งยังโคจรด้วยความเร็วสูงอย่างผิดปกติขณะเข้ามาในระบบสุริยะของเราเมื่อกว่า 5 ปีก่อน โดยเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 196,000 ไมล์ต่อชั่วโมง จึงทำให้รอดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์