เปิดประวัติ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เจ้าของฉายาบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 ยึดหลัก ‘Design Thinking’ แก้ปัญหาเมืองหลวง ปลุก กทม.ดีขึ้นกว่าเดิมได้เมื่อเราช่วยกัน
ผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการเป็นที่แน่ชัด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี คะแนนขึ้นนำ ทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่น
หากไม่มีมหกรรมพลิกล็อก นายชัชชาติ จะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 มีอำนาจเต็มสองมือตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2562 มีภารกิจบริหารกรุงเทพฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากถึง 27ภารกิจ ภายใต้งบประมาณมหาศาล 8 หมื่นล้านบาท
สำหรับ ภาพจำของนายชัชชาติ ที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นวงกว้างในโซเชียลมีเดีย มาจาก 2 เรื่องก่อนเกิดเหตุรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557
เรื่องแรกนายชัชชาติ ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้งบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดย นายชัชชาตติ ยืนยัน โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีความจำเป็นกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ย่นระยะเวลาการเดินทางลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ท้ายสุด ศาลวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบทั้งกระบวนการ และเนื้อหา
เรื่องที่สอง นายชัชชาติ ถูกแชร์ภาพถ่าย ขณะเดินเท้าเปล่าถือถุงกับข้าวไปรอใส่บาตรพระตอนเช้าที่จังหวัดสุรินทร์ ในชุดเสื้อแขนกุดสีกรมท่า กางเกงขาสั้น วงแขนกล้ามเป็นมัดๆ กระทั่งเกิดกระแสนำรูปชัชาติไปตัดต่อเอาไปล้อเป็น รมต.ที่มีพลังมหาศาลไร้เทียมทาน
กล่าวสำหรับประวัติว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 นายชัชชาติ เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2509 (อายุ 55 ปี) อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ประวัติการศึกษา
นายชัชชาติ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาโท วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาโท บริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับประสบการณ์ทำงาน
ปี 2536 – 2537 วิศวกรโครงสร้าง บริษัท สคิดมอร์ โอวิ่ง แอนด์ เมอร์ริลล์ สหรัฐอเมริกา
ปี 2546 – 2555 อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอดีตผู้ช่วยอธิการบดี)
ปี 2555 – 2557 รมว.คมนาคม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วม กทม.
ปี 2558 – 2561 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บมจ.ควอลิตี๊เฮาส์ (Q House)
ปี2562 – ปัจจุบัน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok รวมพลังสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม ในช่วงโควิด-19 ร่วมทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” ฐานข้อมูลสำหรับส่งต่อความช่วยเหลือให้กับชุมชนใน กทม
นายชัชชาติ เคยตอบคำถามหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้อย่างไร? รายละเอียดดังนี้
การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้นั้น จะใช้แนวคิด Design Thinking ในการหาทางแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1.เข้าใจและเข้าถึงการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ (Empathize) ลงพื้นที่ รวบรวม รับฟัง เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ไม่ใช่นั่งแต่อยู่ในห้องแอร์รอรับฟังรายงาน
2.กำหนดปัญหาในแต่ละเรื่อง (Define)ถ้ากำหนดปัญหาผิด ก็ไม่มีทางที่จะมีทางออกที่ถูกได้ ดังนั้นจึงใช้ทีมงานในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของพื้นที่ (ระดับเขต) และในส่วนของหน้าที่งาน (ระดับสำนัก) และกำหนดปัญหาที่แท้จริงของแต่ละเรื่องรวมทั้งกำหนดความเร่งด่วนของแต่ละปัญหา
3.ระดมความคิด หาแนวทางแก้ไข (Ideate) การแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ หลาย ๆ เรื่องต้องใช้การคิดใหม่ ถ้าใช้คนเดิมคิด วิธีการเดิมคิด ก็จะได้คำตอบเดิม ๆ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่มีอยู่ ดังนั้นต้องมีการระดมผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมกันคิด เพื่อหาทางออกของปัญหาที่มีอยู่ เรามีคนเก่งเยอะ ต้องให้โอกาสคนเก่ง ๆ เหล่านี้มารวมกันเพื่อช่วยกันหาคำตอบให้กรุงเทพฯ
4.ลงมือทำแบบจำลอง (Prototype) และทำการทดสอบ (Test) ปัญหาในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากแต่หลายๆเรื่องเป็นปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน คล้าย ๆ กันในทุกเขต เช่น ปัญหาทางเท้า ปัญหาการระบายน้ำ ปัญหาขยะ เราสามารถทดลองการปัญหาด้วยการลงมือและทดสอบในบางจุดก่อน ถ้าสำเร็จก็จะขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางทีมงานของเราได้ลงมือทำเรื่องเหล่านี้มาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว มีการกำหนดปัญหา ทางแก้ เริ่มทำและทดสอบแบบจำลองในหลายโครงการแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลา เราสามารถนำสิ่งที่ได้เตรียมไว้มาลงมือทำได้อย่างทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมตัวอีก
ความสำเร็จที่สำคัญของการดำเนินการตามแนวทางนี้คือการมีทีมงานที่ความหลากหลาย มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน และมีความรู้จักพื้นที่ ดังนั้นเราจึงขอรับอาสาสมัคร เพื่อจะมาร่วมกันเป็นทีมงานในการร่วมกันทำกรุงเทพฯ ของเราให้ดีขึ้น
“กรุงเทพมหานครจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อเราช่วยกัน ร่วมมือทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับเราทุกคนครับ” เป็นคำพูดที่นายชัชชาติ อยากสื่อสารไปถึงคนกรุงเทพฯ
สำหรับผลงานที่ผ่านมาของนายชัชชาติ มีอาทิ
(1) โครงการสำคัญที่ได้รวมเป็นทีมงานระหว่างการทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1.เป็นทีมงานผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.เป็นทีมงานที่ร่วมในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น จามจุรีสแควร์ อาคารสยามกิตต์ อาคารสยามสแควร์วัน อาคารระเบียงจามจุรี อาคาร CU-I House
(2) โครงการสำคัญที่ได้ร่วมงานและขับเคลื่อนระหว่างที่ทำงานที่กระทรวงคมนาคม
1.โครงการสร้างอนาคตประเทศไทย 2020 เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวบรวมโครงการสาคัญต่าง ๆ ของกระทรวง คมนาคม
2.การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง จากโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์เดิม การลงนาม MOU ระหวา่งไทย-จีน เพื่อศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย
3.การขับเคลื่อน เร่งรัด การก่อสร้าง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. สายสีแดง (บางซื่อ-ดอนเมือง) สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ ใต้ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง
4.โครงการ PPP ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
5.โครงการ PPP การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
6.การศึกษาความเป็นไปได้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-โคราช พัทยา-มาบตาพุด
7.พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ Satellite Terminal
8.การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่สอง
9.การเปิดท่าอากาศยานดอนเมืองสำหรับให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) และ/หรือ เส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศแบบ จุดต่อจุด (Point to Point)
10.โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
11.โครงการศูนย์ความปลอดภัยขนส่งสำหรับรถโดยสารสาธารณะ
(3) ผลงานที่ทำในช่วงที่เป็น CEO บริษัท Quality Houses จำกัดมหาชน
1.เพิ่มกำไรสุทธิของบริษัทจาก 3,106 ล้านบาท ในปี 2558 มาเป็น 3,800 ล้านบาท ในปี 2562
2.เพิ่ม Net Profit Margin ของบริษัทจาก 14.26% ในปี 2558 มาเป็น 20.98% ในปี 2562
3.ลด D/E Ratio ของบริษัท จาก 1.46 ในปี 2558 มาเป็น 1.06 ในปี 2562
4.นำระบบ ISO 9001 เข้ามาใช้กับระบบโรงงาน Precast และระบบบริการหลังการขาย ทำให้เพิ่มคุณภาพในการให้บริการ
(4) ผลงานที่ทำเกี่ยวกับชุมชน
1.ร่วมกัน จัดตั้งกลุ่ม Better Bangkok เพื่อช่วยกันคิดโครงการเพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิม
2.ในช่วงโควิด-19 ร่วมกับทีมงานจัดทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” เพื่อให้ข้อมูลชุมชนต่าง ๆ ใน กทม.เพื่อให้ทราบความต้องการของแต่ละชุมชน และสามารถส่งความช่วยเหลือโดยตรงให้กับชุมชนใกล้เคียงได้