‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ หรือ serial killer ที่น่าสะพรึง มีลักษณะแบบไหนที่เข้าข่าย ต้องลงมือปลิดชีพเหยื่อกี่ศพ แล้วนิยามคดี ‘แอม ไซยาไนด์’ เมื่อไหร่จะเข้าข่าย อ่านได้ที่นี่
กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ ที่สังคมเฝ้าจับตาเป็นอย่างมาก กรณีคดีที่ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ “แอม” ภรรยาของนายตำรวจจังหวัดราชบุรี ผู้ต้องหาคดีฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หลังพบสารพิษ “สารไซยาไนด์” ในในร่างกายของเพื่อนสาวชาว จ.กาญจนบุรี ที่ไปเที่ยวด้วยกัน โดยมีมูลเหตุมาจากเรื่องหวังในทรัพย์สิน รวมถึงประเด็นการฆ่าล้างหนี้ ภายหลังยังพบว่า พฤติกรรมของ น.ส.แอม ไปเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตปริศนาของบุคคลรวม 14 ราย และน่าจะมีเพิ่มอีกจำนวนมาก ซึ่งสังคมจับตาว่าอาจเข้าข่าย “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” ดังที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 28 เม.ย. ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพาทุกคนมารู้กับลักษณะของ ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ หรือ serial killer ว่าต้องเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ข้อมูลจาก เว็บไซต์ห้องสมุดสุขภาพจิต ของกระทรวงสาธารณสุข อธิบายลักษณะของ “ฆาตกรต่อเนื่อง” อ้างคำนิยามโดย สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ระบุว่าหมายถึง ฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการหรือความพึงพอใจทางจิตใจ โดยจะมีช่วงว่างเว้นระหว่างเหยื่อแต่ละราย ซึ่งต่างจากฆาตกรรมหมู่ที่จะสังหารบุคคลหลายๆ คนในคราวเดียวกัน
ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่เป็นการกระทำของบุคคลเดียว แรงจูงใจในการกระทำความผิด อาจมีได้ตั้งแต่ความโกรธ แสวงหาความตื่นเต้น ผลประโยชน์ทางการเงิน และการเรียกร้องความสนใจ วิธีการในการกระทำมักจะเป็นรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และเหยื่อมักจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกันเช่น ลักษณะทางประชากร รูปร่างลักษณะ เพศ และเชื้อชาติ
อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่พบบ่อยของ ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ มักมีลักษณะกล่าวคือ ความผิดปกติทางจิต หรือความผิดปกติทางบุคคลิกภาพ มักมีประวัติถูกทำทารุณกรรมทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือทางเพศจากสมาชิกในครอบครัว อาจมีลักษณะของพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนร่วมด้วย ระดับสติปัญญาอยู่ในระดับปกติหรือต่ำกว่าปกติ บ่อยครั้งที่ฆาตกรมักถูกกลั่นแกล้งหรือแยกตัวจากสังคมในวัยเด็ก มีประวัติกระทำความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น หลอกลวง ลักขโมย ก้าวร้าวรุนแรง
ขอบคุณข้อมูล เว็บไซต์ห้องสมุดสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข