เรื่องต้องรู้..? “ประชุมออนไลน์” ต้องมี 7 องค์ประกอบที่ กฏหมายรองรับ!!

กำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคม อย่างมากสำหรับกรณี คลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 66 ของ ไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 66 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

กำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคม อย่างมากสำหรับกรณี คลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 66 ของ ไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 66 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 66 ในประเด็นที่ว่า ไอทีวี ยังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ที่พบว่า การตอบคำถามสถานะบริษัทเรื่องธุรกิจสื่อ กลับพบคำตอบไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม

โดย รายการ “ข่าว 3 มิติ” นำมาเปิดเผยที่แรก จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการแก้ไขรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นหรือไม่

ซึ่งการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 66 ของ ไอทีวี เป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเรียกว่า การประชุมออนไลน์ หรือ อี-มีทติ้ง( e-Meeting)

วันนี้พามารู้จักกันว่า การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-มีทติ้ง คืออะไร?

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ผู้เข้าร่วมประชุม คือ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และรวมถึงผู้ซึ่งต้องชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ

การบังคับใช้และผลทางกฎหมาย

ใช้สำหรับการประชุมที่ต้องการผลตามกฎหมาย หรือกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุม เช่น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือการประชุมของคณะกรรมการต่างๆ ใช้ได้ทั้งการประชุมของภาครัฐ และภาคเอกชน

ไม่ใช้บังคับกับ

-การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

-การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

-การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

-การประชุมอื่นหรือในเรื่องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) ถือหน่วยงานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและ ความปลอดภัย ในทุกการทำธุรกรรมออนไลน์ รองรับการขยายตัวของ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

จึงได้จัดทำ “มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563” ภายใต้ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ออกตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 

ซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางการใช้งานการประชุมออนไลน์ ที่ปลอดภัยและกฎหมายรองรับ โดยต้องมี 7 องค์ประกอบสำคัญ ตามกฎหมาย คือ  

1.ก่อนร่วมประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม จะต้อง แสดงตัวตน

2.การประชุมต้องสื่อสารกันได้ด้วยเสียง หรือทั้งเสียงและภาพ มีช่องสัญญาณเพียงพอและมีช่องทางสำรอง หากเกิดเหตุขัดข้อง

3.ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเข้าถึงเอกสารประกอบการประชุมได้ ทั้งแบบกระดาษ หรืออิเล็กทรอนิกส์

4.การประชุมจะต้องรองรับการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวขยายรองรับการ ใช้งานกรณีเป็น การใช้ระบบ e-voting ด้วย โดยหากเป็นการลงคะแนนทั่วไป เปิดเผยได้ ต้องสามารถระบุตัวตนและเจตนา ของผู้ออกเสียงลงคะแนน แต่หากเป็นการออกเสียงลงคะแนนแบบลับ ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ลงคะแนนก็ได้ แต่ต้องระบุจำนวนของผู้ลงคะแนนและผลรวมของคะแนน

5.มีการบันทึกจัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เว้นแต่ประชุมลับที่จะต้องไม่มีการบันทึก ระหว่างการประชุมในวาระลับนั้นๆ 

6.มีการเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กอิเล็กทรอนิกส์หรือประวัติการใช้งานระบบ e-Meeting อย่างน้อยต้องระบุตัวตนผู้ใช้งาน วันและเวลาของการประชุม 

และ 7.มีช่องทางรองรับการแจ้งเหตุขัดข้อง ระหว่างการประชุม เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาระหว่างการประชุมให้กับผู้เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ การประชุมออนไลน์ หรือ อี-มีทติ้ง ได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 และได้เป็นช่องทาง สำคัญของที่หลายองค์กรธุรกิจ เลือกใช้ในดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกมากขึ้น ซึ่งการจัดประชุม และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญระหว่างกันทางออนไลน์ จำเป็นต้องเลือกใช้ระบบการประชุมออนไลน์ ที่มีความปลอดภัย และเป็นระบบที่สอดคล้อง เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดด้วย