นิราวรรณ วัย 17 ปี นักมวยสาวจากค่ายมวยเล็ก ๆ ใน จ.จันทบุรี ออกอาวุธเข่าใส่ ธนวรรณ ทองดวง หรือ “บัวขาว มกช.ชัยภูมิ” นักมวยรุ่นพี่วัย 21 ปี ก่อนที่เธอจะส่งคู่ต่อสู้ไปนอนกับพื้นด้วยท่าเตะ ครบ 5 ยก กรรมการชูมือให้นิราวรรณเอาชนะคะแนนธนวรรณ คว้าเข็มขัดแชมป์สภามวยโลก (WBC) รุ่นมินิฟลายเวท หรือรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 105 ปอนด์ ที่ว่างอยู่ไปครอบครองได้สำเร็จ
“รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมาก ๆ ค่ะ” นักมวยหญิงร่างเล็กกล่าวถึงความรู้สึกตอนที่ได้รับชัยชนะ
ชัยชนะของนิราวรรณไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ตัวเธอและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในแวดวงศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่ตอนนี้สนามมวยลุมพินี–หนึ่งในเวทีมาตรฐานที่นักชกต่างใฝ่ฝันอยากจะขึ้นชก–ไม่ได้สงวนไว้สำหรับนักชกชายอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ ป้ายที่วางไว้รอบเวทีระบุชัดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “สุภาพสตรีห้ามพิงหรือขึ้นเวทีโดยเด็ดขาด” ความเชื่อที่มีมาแต่ไหนแต่ไรว่าเวทีมวยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มวยไทยเป็นศาสตร์ที่มีครู เป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่ทำให้นักมวยหญิงไม่มีโอกาสก้าวหน้าในวงการเท่านักมวยชาย
“เขาเชื่อว่าผู้หญิงขึ้นไปเหยียบมันจะไม่ดีเพราะว่าผู้หญิงมีประจำเดือน แต่พอขึ้นไปมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างปกติเหมือนผู้ชายต่อยเลย หนูไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเพราะว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีมือมีเท้าเหมือนกัน หนูคิดว่ามันต่อยได้เหมือนกัน” เธอบอก
แม้บันทึกประวัติศาสตร์นี้อาจไม่สมบูรณ์แบบมากนัก เพราะการชกกันของ “เสน่ห์จันทร์” กับ “บัวขาว” จำเป็นต้องย้ายสถานที่จัดการแข่งขันไปยังเวทีชั่วคราวแบบเปิดที่อยู่ข้างกับอาคารสนามมวยหลัก เพื่อเป็นไปตามมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล แต่ก็ถือว่าการชิงชัยในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมการแข่งขันที่จัดโดยสนามมวยลุมพินีได้
อย่างไรก็ตาม นิราวรรณยังคงต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด เช่น การก้าวขึ้นเวทีที่นักมวยหญิงต้องลอดใต้เชือกเส้นสุดท้ายเท่านั้น ในขณะที่นักมวยชายจะลอดหรือข้ามเชือกเส้นใดเพื่อขึ้นเวทีก็ได้
จากคลัสเตอร์โควิด สู่ “สนามมวยระดับโลก”
สนามมวยลุมพินีก่อตั้งขึ้นในปี 2499 เป็นเวทีมวยระดับมาตรฐานแห่งที่สองของประเทศไทยถัดจากสนามมวยราชดำเนิน โดยในยุคนั้น มวยไทยเป็นเพียงศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีเวทีการแข่งขันเป็นหลักแหล่ง ไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน จึงมีความคิดปรับปรุงให้มีความเป็นสากลมากขึ้น
ที่ผ่านมา สังเวียนแห่งนี้จัดการชกมวยทั้งมวยไทยและมวยสากลนัดสำคัญ ๆ มามากมาย ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาชมการต่อสู้ บ้างก็มาเสี่ยงโชคกันอย่างเนืองแน่น จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ขึ้นภายในสนามจากการแข่งขันเมื่อ 6 มี.ค. 2563
เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายไปยังต่างจังหวัด แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนามมวยลุมพินีริเริ่มปรับภาพลักษณ์ของตัวเองไปสู่การเป็น “สนามมวยระดับโลก”
“เรารู้ตัวว่าเป็นคลัสเตอร์ (โรคระบาด) เราถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือต้องสร้างมาตรฐาน สร้างการยอมรับ และให้ผู้คนในสังคมเห็นว่าเราได้เปลี่ยนจากการเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นกีฬาที่ก่อประโยชน์ให้แก่สังคม” พล.ท.สุชาติ แดงประไพ นายสนามมวยเวทีลุมพินี บอกกับบีบีซีไทย
พล.ท. สุชาติ หรือที่คนมวยเรียกกันว่า “บิ๊กแดง” ได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้เข้ามาปฏิรูปการดำเนินงานของสนามมวยลุมพินีเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ภายหลังจากที่คณะกรรมการเวทีชุดก่อนถูกปลดยกชุดจากกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการระบาด
เขาได้รับมอบภารกิจจาก ผบ.ทบ. 3 ข้อคือ การกวาดล้างการพนันในสนามมวยลุมพินี การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการสร้างความชอบธรรมให้สังคม ซึ่งการที่เขาตัดสินใจยกเลิกธรรมเนียมที่ห้ามนักมวยหญิงขึ้นชก เป็นผลมาจากความต้องการเจาะตลาดผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้น
“ผมคิดว่ามวยไทยมันคือกีฬาชนิดหนึ่ง กีฬาทุกชนิด ไม่ว่ากีฬาอะไรในโลกกำหนดให้ทั้งเพศชายและเพศหญิงเข้าแข่งขัน การที่เราเปิดโอกาสในผู้หญิงขึ้นชกมวยจะทำให้วงการมวยหญิงในประเทศไทยหรือทั่วโลกเกิดการตื่นตัว และเวทีลุมพินีจะเป็นเวทีหนึ่งที่คนในโลกนี้อยากมาและอยากมาชก” พล.ท. สุชาติกล่าว
นอกจากนี้ พล.ท. สุชาติบอกว่าสนามมวยลุมพินีจะยกเลิกการขออนุญาตเล่นการพนันจากกรมการปกครอง เพื่อเดินหน้าปรับตัวไปสู่การจัดการแข่งขันที่เน้นความบันเทิง
แม้เขาจะมีอำนาจบริหารจัดการสนามมวยอันเก่าแก่แห่งนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งต้องผ่านการพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในวงการมวย ที่เขาอธิบายว่าเป็น “ขั้นตอนที่ยากลำบาก แต่ก็ผ่านไปด้วยดี”
“มันยากตรงที่คนไทยมีความเชื่อเรื่องครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้นความเชื่อตรงนี้ผมก็ไม่ได้ลบหลู่ ตอนที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงขึ้นชก ก็มีการทำพิธีขอขมา เพื่อขอความเมตตาว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะปล่อยให้เพศหญิงขึ้นชกและแสดงฝีมือให้ชาวโลกได้เห็น ซึ่งคนมวยส่วนใหญ่ยอมรับและเข้าใจในเจตนาของเรา”
ด้านผู้ที่ติดตามมวยมองว่า การเปิดกว้างให้นักมวยหญิงก้าวขึ้นสู่สังเวียนระดับประเทศอย่างลุมพินีอาจช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนมวยได้ แต่ประเด็นเรื่องขนบธรรมเนียม ยังคงเป็นสิ่งท้าทายต่อการสร้างการยอมรับนักมวยหญิงในวงการมวยไทย
“ความจริงมันไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยไปหมด อาจต้องใช้เวลาไปอีกสักพักเพื่อให้เกิดความชินชาไปเอง” สุวรรณา ศรีสงคราม บรรณาธิการหญิงแห่งนิตยสารมวยแชมป์กล่าว
“ถ้าจะบอกว่ามวยไทยชาย-หญิงเท่าเทียมกันแล้วคงไม่ใช่ มันก็เหมือนสิทธิชาย-หญิงในสังคมนั่นแหละ เรื่องบางเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับความเชื่อ เช่น การลอดใต้เชือก เขาก็ยังถือกันอยู่และน่าจะเป็นเรื่องยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงได้”
เริ่มต่อยมวยเพราะถูกเพื่อนแกล้ง
แม้วันนี้ นิราวรรณ หรือ “เสน่ห์จันทร์” จะมีท่าทีที่ดุดัน แต่ช่วงวัยเด็ก เธอเคยถูกเพื่อนแกล้งมาก่อน พ่อของเธอ ผู้เป็นเจ้าของค่ายมวยศักดิ์ชำนิ จึงตัดสินใจฝึกสอนศิลปะแม่ไม้มวยไทยไว้ให้เธอใช้ป้องกันตัว
“หนูเริ่มต่อยมวยตั้งแต่ ป.5 ตอนอายุ 11 ปี ตอนนั้นพ่อเขาให้มาต่อยแบบไม่ได้จริงจัง เขาไว้ให้ป้องกันตัว เพราะหนูเป็นผู้หญิงตัวน้อย ๆ ช่วงนั้นก็โดนเพื่อนแกล้งมาบ่อย” นิราวรรณเล่าให้ฟัง
หลังจากที่เธอได้ลองสวมนวมฝึกซ้อมท่วงท่าไปได้ระยะหนึ่ง เธอลองขึ้นสังเวียนมวยสมัครเล่นเป็นครั้งแรก ซึ่งเธอพ่ายแพ้กลับมา แต่นั่นก็ไม่ทำให้เธอล้มเลิกความพยายามที่จะเป็นนักมวยอาชีพ
“ไฟท์แรกไปต่อยมาก็แพ้ ครั้งที่สองหนูก็ต่อยกับคนเดิมแต่ก็แพ้อีก เลยคิดว่าต้องชนะให้ได้สักครั้งหนึ่ง พอต่อยมาสักพักหนึ่งพ่อเขาเริ่มเห็นแววและให้ต่อยเป็นอาชีพ หนูก็ชอบด้วยค่ะเพราะว่ามันได้ตังค์” เธอกล่าวพร้อมกับหัวเราะ
นับตั้งแต่นั้นมา นิราวรรณต้องตื่นนอนตอนตี 5 และไปวิ่งเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง เมื่อกลับมาถึงค่ายมวยที่อยู่หลังบ้าน เธอจะฝึกซ้อมจนถึง 8 โมงเช้า ก่อนจะอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน พอกลับมาจากโรงเรียน เธอจะซ้อมต่อจนถึงประมาณ 2 ทุ่ม ถึงได้กลับบ้านไปพักผ่อนและเริ่มวันใหม่เหมือนเดิมจนกว่าจะถึงวันแข่งขัน
กิจวัตรประจำวันของเธอแบบนี้ดำเนินมาได้ 6 ปีแล้ว ซึ่งนักสู้หญิงคนนี้ยอมรับว่ามีบางครั้งที่รู้สึกท้อแท้ เธอเล่าว่า กว่าจะได้รับคัดเลือกให้ขึ้นไปชกบนเวทีลุมพินี เธอต้องเดินสายพิสูจน์ฝีมือตาม “เวทีภูธร” ในต่างจังหวัดมาหลายนัด
จนถึงตอนนี้ นิราวรรณเอาชนะมาได้ 30 ครั้งจากสถิติการชกทั้งหมด 41 ครั้ง แต่เธอยังมีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น
“หนูไม่เคยคิดเลย ตอนนั้นก็คิดว่าต่อยไม่กี่ครั้งน่าจะเลิก ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ หนูอยากไปให้ไกลที่สุดเลย ตั้งเป้าหมายไว้ถึงโอลิมปิกเหรียญทอง”
เป้าหมายของเธออาจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมนัก เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพิ่งลงมติอย่างเป็นทางการให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) เป็นสหพันธ์กีฬานานาชาติเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่การบรรจุกีฬามวยไทยเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกในอนาคตข้างหน้า
นิราวรรณบอกว่าถึงวงการมวยไทยอาจมีอุปสรรคสำหรับผู้หญิงอยู่บ้าง แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็ถือว่าเป็นการ “เปิดกว้างมาก ๆ แล้ว”
“หนูว่าตอนนี้ไม่น่าจะมีปัญหามาขวางแล้ว เวทีมาตรฐานตอนนี้ก็เปิดให้ผู้หญิงต่อยเกือบทุกเวทีแล้ว”
“หนูอยากฝากผู้หญิงที่มาต่อยมวย การต่อยมวยมันก็ดี มันป้องกันตัวได้ สำหรับคนที่อยากต่อยแบบจริงจัง ขอให้มีความตั้งใจก็สามารถมาต่อยแบบหนูได้” เธอกล่าวทิ้งท่ายก่อนที่จะลอดเชือกขึ้นเวทีไป