เหตุประท้วงในอิหร่านจากกรณีการเสียชีวิตของหญิงสาวผู้ถูกจับฐานทำผิดกฎการสวมฮิญาบ ลุกลามไปกว่า 20 เมืองแล้ว ขณะที่มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ศพ
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า เหตุประท้วงในประเทศอิหร่าน ซึ่งมีชนวนเหตุจากการเสียชีวิตของหญิงรายหนึ่ง ระหว่างที่เธอถูกตำรวจควบคุมตัวข้อหาทำผิดกฎการสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า ‘ฮิญาบ’ ลุกลามไปตามเมืองใหญ่กว่า 20 แห่งแล้วในวันพุธที่ 21 ก.ย. 2565 รวมถึงที่เมืองหลวงกรุงเตหะราน
คลิปวิดีโอการประท้วงที่ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงหญิงโบกสะบัดผ้าคลุมศีรษะของตัวเอง หรือจุดไฟเผาผ้า เพื่อแสดงการต่อต้านกฎการใส่ฮิญาบอันเข้มงวดที่รัฐบาลอิหร่านบังคับใช้ “ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ, ไม่เอาผ้าโพกหัว เอาเสรีภาพและความเท่าเทียม” ผู้ประท้วงในเตหะรานกล่าว
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชาวเคิร์ดระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุประท้วงแล้วอย่างน้อย 9 ศพ รวมถึงวัยรุ่นชายอายุ 16 ปี หลังตำรวจเปิดฉากยิงปืนเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่ทางการอิหร่านยังไม่ออกมายืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด ขณะที่สำนักข่าวของรัฐบาลอย่าง IRNA ระบุว่า มีตำรวจเสียชีวิต 1 นายระหว่างการปะทะที่เมืองชีรา ซเมื่อวันอังคาร
ทั้งนี้ การประท้วงในอิหร่านเริ่มขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของ น.ส. มาห์ซา อามินี หญิงชาวเคิร์ดวัย 22 ปี จากเมืองซาเกซ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน ซึ่งถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมตัวระหว่างเดินทางมายังกรุงเตหะรานเพื่อเยี่ยมครอบครัว โดยเธอถูกกล่าวหาว่า ละเมิดกฎหมายที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมใส่ผ้าฮิญาบ
หลังจากนั้น อามินีก็ถูกพาตัวไปยังสถานกักกันเพื่อรับการอบรม อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีที่ศีรษะด้วยไม่กระบอง และจับศีรษะกระแทกกับหนึ่งในรถของเจ้าหน้าที่ จนเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส นอนโคม่านาน 3 วัน กระทั้งเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา
ด้านตำรวจเตหะรานปฏิเสธเรื่องการทำร้ายร่างกายของ อามินี และอ้างว่า หญิงวัย 22 ปีผู้นี้ เกิดอาการหัวใจล้มเหลวกระทันหัน สวนทางกับครอบครัวของอามินีที่ออกมายืนยันว่า ลูกสาวของพวกเขาสุขภาพแข็งแรงดี
นางนาดา อัล-นาชิฟ รักษาการข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอังคารให้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนอิสระ เพื่อหาข้อเท็จจริงในการเสียงชีวิตของอามินี โดยเธอระบุว่า สำนักงานของเธอได้รับวิดีโอหลักฐานยืนยันมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมรุนแรงต่อผู้หญิงของตำรวจศีลธรรมของอิหร่าน