เอกอัครราชทูต “สหภาพยุโรป-เนเธอร์แลนด์” เข้าเยี่ยมคารวะ “บิ๊กป้อม” พร้อมกระชับความสัมพันธ์ทุกด้าน

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป และเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ เข้าเยี่ยมคารวะ “พล.อ.ประวิตร” โอกาสเข้ารับหน้าที่ กระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในทุกมิติ ไทยพร้อมขยายความร่วมมือในกรอบไทย ยุโรป และอาเซียน

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเดวิด เดลี (Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปได้แสดงความยินดีต่อพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย–สหภาพยุโรปที่คืบหน้าตามลำดับ โดยฝ่ายไทยได้ยืนยันความพร้อมที่จะเดินหน้าความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปต่อไป บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม ความเข้าใจและการเคารพซึ่งกันและพร้อมทั้งยินดีทำให้หุ้นส่วนระหว่างกันแข็งแกร่งและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และในด้านความมั่นคง เช่น การรับมือกับ ภัยคุกคามทางไซเบอร์และแบบผสม เป็นต้น

ต่อมา เวลา 11.00 น. นายแร็มโก โยธันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยได้หยิบยกประเด็นพูดคุยเรื่องความร่วมมือทวิภาคีไทย–เนเธอร์แลนด์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการเดินเรือ และเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ รวมถึงพัฒนาการในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและยุโรป โดยฝ่ายไทยได้แสดงความยินดีที่เนเธอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้เน้นย้ำกรณีไทยกับสหภาพยุโรปยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อต่อต้านการประมง IUU โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับทุกข้อแนะนำจากสหภาพยุโรป โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายจะไม่ปรับแก้กฎหมายประมงที่จะลดประสิทธิภาพในการต่อต้านการประมง IUU ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ตนในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับและบูรณาการการทำงานของหน่วยงานไทยตามข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรปแล้ว

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมในการขยายความร่วมมือในกรอบไทย ยุโรป และอาเซียน โดยเนเธอร์แลนด์ชื่นชมบทบาทของไทยในภูมิภาค และบทบาทของอาเซียนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งไทยยินดีเป็นหุ้นส่วนกับสหภาพยุโรปในการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ทะเลและการทำประมงยั่งยืน การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และหวังว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์ต่อกันต่อไป