กทม. ร่วมกสิกรไทย ร่วมเปิดตัวแอปฯ “หมอ กทม.” เข้าถึงบริการ 11 โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ ทั้งแบบฉุกเฉิน และไม่ฉุกเฉิน
วันที่ 4 มีนาคม 65 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดตัวแอปฯ “หมอ กทม.” โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้นำเทคโนโลยีฯ มาสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ภายใต้โครงการ Smart OPD เป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์วิถีใหม่ เว้นระยะ ลดการสัมผัส ซึ่งผู้ใช้สามารถรับบริการได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน เข้าถึงบริการการรักษาทางการแพทย์ ได้ทั้งแบบฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ครอบคลุมบริการจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครทั้งหมด 11 แห่ง ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยนอกรวมกว่า 4 ล้านราย และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รวมทั้งรวบรวมความรู้ด้านสุขภาพจากแพทย์และบุคลากรจากสหสาขาวิชาชีพ
ด้าน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี มาช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมมิติต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมบริการด้านสาธารณสุข โดยธนาคารได้ช่วยสนับสนุนในการพัฒนาระบบบริการทางแพทย์ของกรุงเทพมหานคร สร้างแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในช่วงที่สังคมยังต้องใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่าง ลดข้อจำกัดในระบบการดูแลสุขภาพในช่วงที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยแอปฯ “หมอ กทม.” มุ่งพัฒนาใน 3 แกนหลัก คือ การเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพและการรักษาได้ด้วยตนเอง ช่วยให้การรักษาและการรับบริการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การสร้างประสบการณ์ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว ผู้ใช้บริการสามารถทำได้ด้วยตนเอง และ การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางเงินต่างๆ ที่เลี่ยงสัมผัสเงินสด
สำหรับบริการสำคัญในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” อาทิ
- การนัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบรายการนัดหมาย แจ้งเตือนการนัดหมาย และกดรับบัตรคิวในแอปฯ
- ตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ
- การตรวจสอบสถานะคิวตรวจ แจ้งลำดับคิว และขั้นตอนการใช้บริการในโรงพยาบาล
- การลงทะเบียนตรวจรักษา บริการลงทะเบียนตรวจรักษาโรค จองวันเข้ารับการตรวจรักษาได้ง่าย ผ่านแอปฯ
- ประวัติการรักษา ตรวจสอบผลวินิจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการจากสถานพยาบาลอื่นได้สะดวก โดยเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
- แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ด้วยฟีเจอร์แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมแชร์โลเกชันเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากศูนย์เอราวัณ
- ตรวจรักษาออนไลน์ บริการตรวจรักษาด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) โดยสามารถตรวจรักษา ติดตามอาการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล (VDO Call) โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน
สำหรับประชาชน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ได้แล้ว โดยแต่ละโรงพยาบาลจะเริ่มทยอยขึ้นจนครบ 11 โรงพยาบาล ได้แก่
1. โรงพยาบาลกลาง
2. โรงพยาบาลตากสิน
3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
4. โรงพยาบาลสิรินธร
5. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
6. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
7. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
8. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
10. โรงพยาบาลคลองสามวา
โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ภายในปลายเดือนมีนาคม 2565