กรมควบคุมโรค เผยคำแนะนำป้องกันโรค “ฝีดาษลิง” ย้ำ การใช้ชีวิตพฤติกรรมแบบปกติทั่วไป ความเสี่ยงแทบจะเป็น “0” ชี้ ไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าววันนี้ (23 ก.ค. 2565) ถึงกรณีโรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศไทย โดยมีคำแนะนำป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับประชาชน ดังนี้
- โรคฝีดาษวานร ติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มหรือผื่น / สิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย ให้เลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง และงดใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- Universal Prevention : เน้นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง
- หากเริ่มมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ลำตัว แขนขา ใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง ได้แก่ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ ร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานร มีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือมีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะที่มาจากแอฟริกา ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และขอให้แจ้งประวัติเสี่ยงด้วย
- กรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แนะนำให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรหลบหนี เพื่อลดการแพร่โรคสู่ผู้อื่น และการหลบหนีจะผิดกฎหมายด้วย
อธิบดีกรมคุวบคุมโรค ยังสรุปอย่างง่ายๆ ด้วยว่า “โรคฝีดาษลิงไม่ติดง่าย ประชาชนที่ใช้ชีวิตพฤติกรรมแบบปกติ ความเสี่ยงแทบเป็นศูนย์ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลมาก บางท่านถามฉี่กระเด็นใส่จะติดเชื้อไหม ก็คงไม่ติดนะครับ เชื้อมันอยู่ตามตุ่มตามหนอง และต้องสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ถึงจะติด เดินเฉียดกันนี่ไม่ติดแน่นอน ติดยากกว่าโรคเอดส์เสียด้วยซ้ำ ความรุนแรงน้อยกว่า ติดยากกว่า เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องกังวล ดูเหมือนตุ่มจะน่ากลัว แต่เวลาตุ่มขึ้น ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ก็จะแห้งและหายไป ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น”
สำหรับภาพรวมในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ประกาศให้โรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ขณะนี้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม โดยผู้ติดเชื้อฝีดาษรายแรกนี้ ระยะต่อไปจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ เพราะมีพฤติกรรมหลบหนี ส่วนผู้สัมผัส ผู้มีความเสี่ยง อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม รวมถึงไทยมีการยกระดับการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และคลินิกอื่นๆ ที่อาจพบผู้สงสัยจะได้รับการตรวจต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อฝีดาษลิง
ในช้วงท้ายมีคำถามว่ามีจังหวัดใดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหรือ นพ.โอภาส ตอบว่า ทุกจังหวัดควรมีความตื่นตัว เน้นที่สถานพยาบาลตรวจสอบคนที่มีตุ่มสงสัยเข้าได้กับโรค ส่วนภูเก็ตจะคัดกรองเชิงรุก รวมถึงมีมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ขณะที่เรื่องการเข้า-ออกประเทศ ก็อาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน ดูว่าประเทศต้นทางมีการระบาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กระทรวงคมนาคม ทุกหน่วยงานรับทราบและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
ส่วนคำถามเรื่องฝีดาษลิงในเด็กเล็กมีความอันตรายหรือไม่ และมีการป้องกันอย่างไร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้คำตอบว่า ตามข้อมูลปัจจุบันโดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงของโรคค่อนข้างน้อย มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ในทุกโรคโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ โรคติดต่อ กลุ่มเปราะบางที่เวลาติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การระบาด ข้อมูลชัดเจนว่าผู้ป่วยฝีดาษลิงส่วนใหญ่ ผู้ชาย อยู่ในช่วงอายุวัยรุ่นหรือวัยกลางคน เด็กเล็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง โอกาสติดค่อนข้างน้อย แต่ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงอย่าให้คนที่มีตุ่มมาสัมผัสกับบุตรหลาน ขอให้ใช้ชีวิตตามสุขอนามัย และมองว่าไม่น่าจะต้องกังวลเกินไป.