กรมสรรพากร เดินหน้าเก็บภาษี “คริปโตเคอร์เรนซี” เริ่ม มีนาคม 65 นักลงทุนเตรียมตัว ต้องกรอกข้อมูลกำไรคริปโตเคอร์เรนซี ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ หากพบใครหลีกเลี่ยง มีระบบ data analytics ตรวจสอบได้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สำหรับการจัดเก็บภาษี “สินทรัพย์ดิจิทัล” (digital asset) อย่าง “คริปโตเคอร์เรนซี” นั้น มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุชัดเจนว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดังนั้นในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือนมีนาคม 2565 สรรพากรจึงมีช่องให้เลือกสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขาย “คริปโตเคอร์เรนซี” เพื่อให้ผู้เสียภาษีแสดงเงินได้ ซึ่งหากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นทางกรมมีระบบ data analytics เพื่อตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งยังมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานได้ เช่น หากสรรพากรมีข้อมูลที่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวมีกำไรจากการซื้อขายคริปโตก็มีอำนาจเรียกเข้ามาให้ข้อมูลได้
ทั้งนี้กรมสรรพากรกำลังศึกษาเรื่องการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (financial transaction tax) อัตรา ร้อยละ 0.1 จากมูลค่าการขาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บปีหน้า และทำให้มีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องจัดเก็บเนื่องจากต้องสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ
โดยล่าสุดทาง กรมสรรพากร ให้กรอกเงินได้จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” ในแบบยื่นภาษีแล้ว โดยแบบยื่นภาษีที่จะใช้กันในปีนี้ ช่องที่ให้ใส่เงินได้จากการลงทุนจะมีคำว่า “ประโยชน์ใดๆ จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล”
นั่นหมายความว่าผู้มีเงินได้ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในปีที่แล้ว (ปี 2564) จำเป็นต้องใส่จำนวนเงินได้ของตนเองในแบบที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ตามสำหรับภาษีหุ้นทั่วโลกมีเก็บ 2 รูปแบบ คือ transaction tax และ capital gain tax (ภาษีกำไรจากการขายหุ้น) หลายประเทศเก็บทั้ง 2 รูปแบบ แต่ไทยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อจัดเก็บ transaction tax ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ และมีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534