กรมอนามัย เปิดข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ไหนมีความรุนแรงมากสุด-แพร่เชื้อง่าย-หลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่า-เชื้อโรคอยู่บนพื้นผิวสัมผัสได้นาน
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิดสายพันธุ์ยังอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์ที่มีการเคลื่อนที่เดินทาง และรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมาก หากไม่มีการป้องกันที่ดีอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้
ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจอนามัยโพล พบว่า ประชาชนร้อยละ 75 มีความกังวลต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากไม่รู้ว่าสายพันธุ์ใหม่จะรุนแรงเพียงใด กลัวว่าจะติดเชื้อได้ง่าย และกังวลว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว จะสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ ขณะที่ร้อยละ 25 ไม่รู้สึกกังวลเนื่องจากมั่นใจว่าตนเองและคนในครอบครัว สามารถป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี และเชื่อมั่นต่อวัคซีนที่ได้รับมากกว่า 2 เข็ม
สำหรับข้อมูลที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น พบว่า ร้อยละ 64 ต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อโควิดแต่ละสายพันธุ์ เช่น โอมิครอน BA.1 BA.2 หรือพันธุ์ผสม XE XJ เป็นต้น ร้อยละ 49 ต้องการทราบวิธีดูแลเพิ่มเติมในกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ รวมถึงรู้วิธียกระดับการป้องกันตนเองต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่
นอกจากนี้ บางส่วนต้องการทราบข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงวิธีการทำความสะอาด ต้องมีความแตกต่างจากวิธีการเดิม ๆ หรือไม่ และข้อมูลของสถานประกอบการที่ผ่านมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อนำข้อมูลเท่าที่มีในปัจจุบันของแต่ละสายพันธุ์ที่น่ากังวลมาเปรียบเทียบในแต่ละด้าน พบว่า
1) ด้านความรุนแรงของเชื้อ พบว่า สายพันธุ์เดลตามีความรุนแรงมากที่สุด ขณะที่โอมิครอน BA.2 มีความรุนแรงน้อยที่สุด
2) ด้านการแพร่กระจายของเชื้อ จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า โอมิครอน BA.2 แพร่ง่ายกว่า BA.1 และ เดลตา ตามลำดับ
3) ด้านความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน โอมิครอน BA.2 จะมีความสามารถหลบหนีภูมิมากกว่า BA.1 และ เดลตา ตามลำดับ ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับโอกาสติดเชื้อโควิดซ้ำได้
4) ด้านความคงทนของเชื้อโรคบนพื้นผิวสัมผัส ยังไม่มีข้อมูลในสายพันธุ์ย่อย แต่พบว่า โอมิครอนอยู่บนพื้นผิวหนัง และผิวพลาสติกที่นานกว่าเดลตา ซึ่งสายพันธุ์ลูกผสม XE หรือ XJ ยังคงมีข้อมูลที่จำกัด
โดยข้อมูลเท่าที่มี พบว่า สามารถแพร่ติดเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเทียบเท่ากับสายพันธุ์ BA.2 มีอาการเช่นเดียวกับสายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ATK ยังใช้งานได้ตามปกติ แต่เนื่องจากโควิดทุกสายพันธุ์เป็นไวรัสเช่นเดียวกัน มาตรการป้องกันส่วนบุคคลเช่นที่ผ่านมา หากดำเนินการอย่างเคร่งครัด ยังคงมีประสิทธิภาพสูงเช่นเดิม โดยมาตรการวัคซีน ยังคงแนะนำการฉีดครบตามเกณฑ์ และควรได้รับเข็มกระตุ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
จากการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า วัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 98-99 ส่วนมาตรการ DMH ยังคงต้องเน้นย้ำเป็นพื้นฐานสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าคุณภาพให้ถูกต้อง ปิดจมูกปาก และกระชับกับใบหน้า และสำหรับมาตรการสิ่งแวดล้อม เน้นมาตรการเดิม โดยการทำความสะอาดให้ใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือสารทำความสะอาดทั่วไปเช่นเดิม ส่วนการระบายอากาศใช้หลักการเช่นเดิม โดยเปิดช่องลม ประตู หน้าต่าง ให้ระบายอากาศ เข้าและออกได้ ซึ่งยังคงลดอัตราการติดเชื้อได้
ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คาดว่าจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก โดยจะเห็นตัวเลขติดเชื้ออยู่ที่ 50,000 ถึง 100,000 รายต่อวัน ทั้งจากการตรวจ PCR และ ATK ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะช่วยกันป้องกันให้ตัวเลขอยู่ในระดับใด และที่สำคัญคือ ต้องดูแลเรื่องการเสียชีวิต ไม่ควรให้เกินวันละ 200 ราย เพื่อลดความสูญเสีย และเรื่องผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ประชาชนสถานประกอบกิจการ/กิจกรรม ทุกภาคส่วนจึงต้องถือปฏิบัติตามมาตรการ VUCA เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับโควิด สอดคล้องกับแนวทางการปรับลด โควิดจาก “โรคติดต่ออันตราย” ให้เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ของประเทศไทยต่อไป
ข้อมูลจาก กรมอนามัย
ภาพจาก AFP / รอยเตอร์