“กรมอุตุนิยมวิทยา” เปิดภาพเส้นทางสุดสะพรึง ‘พายุฤดูร้อน’ ก่อตัวถล่ม ‘อีสาน-ตะวันออก’ แน่ จังหวัดไหนอ่วม รีบเปิดเช็กด่วน ชี้ต้องเฝ้าระวังรับมือให้ดี
“กรมอุตุนิยมวิทยา” พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว และจะแผ่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในวันนี้ (6 เม.ย. 66) ทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมี พายุฤดูร้อน เกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ วันที่ 6 เมษายน 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และจันทบุรี
ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันสะสมมากเนื่องจากการระบายอากาศไม่ดี ส่วนบริเวณอื่นๆ มีการสะสมน้อยถึงปานกลาง เนื่องจากยังคงมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมและมีฝนตกในบางพื้นที่
สำหรับพยากรณ์ฝนสะสมรายวันของวันที่ 6 เมษายน 2566 อัปเดต 2023040412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) : วิเคราะห์จากแบบจำลองฯ อากาศร้อน และร้อนจัดบางพื้นที่ ฝนน้อย เนื่องจากลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ ยังพัดปกคลุมทางตอนบนของไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังปกคลุม ระวังโรคที่มากับความร้อน เช่น โรคลมร้อนหรือลมแดด ช่วงที่อากาศร้อนจัด
ส่วนลมระดับล่างยังมีลมใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอ่อนถึงปานกลางพัดนำความชื้นปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง (กทม.และปริมณฑล) และภาคตะวันออก ทำให้ยังมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ มีบางพื้นที่ในภาคอีสาน ภาคตะวันออก ยังต้องเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนองที่อาจเกิดขึ้นได้บางจุดบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก
เฉดสี แสดงถึงปริมาณฝนสะสมทุกๆ 24 ชม.
สีฟ้า : ฝนเล็กน้อย
สีแดง : ฝนตกหนัก
สีชมพู : ฝนตกหนักมาก
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @กรมอุตุนิยมวิทยา