ไทยรับมอบ ‘ครอบพระเศียรทองคำ’ จากสหรัฐ คาดศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เตรียมจัดนิทรรศการให้ ปชช.เข้าชม กรมศิลปากรเล็งนำ ‘ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น’ จังหวัดสระแก้ว และ ‘ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์’ จ.บุรีรัมย์ ไปจัดแสดงในพื้นที่
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้รายงานการรับมอบโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ได้แก่ ครอบพระเศียรทองคำ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้แทนประเทศไทยรับมอบจากชาวอเมริกัน และส่งให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตรวจสอบเนื้อวัสดุแล้ว พบว่าเป็นทองคำ 95% ครอบพระเศียรทองคำนี้ เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ประกอบด้วย ส่วนครอบพระเศียรกว้าง-ยาว 14 x 17.6 เซ็นติเมตร หนัก 12.7 กรัม และส่วนพระรัศมีสูง 12.7 เซ็นติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซ็นติเมตร หนัก 29.9 กรัม เทคนิคดุนทอง และตีทอง
“เบื้องต้นสันนิฐานว่าเป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนิยมใช้ประดับพระเศียรพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน โดยกรมศิลปากรจะได้นำเข้าเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) เพื่อการศึกษา และการจัดแสดงในนิทรรศการต่อไป” นายอิทธิพล กล่าว
นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าจากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ที่ได้นัดหมายเข้าเจรจา เพื่อตรวจสอบโบราณวัตถุจากไทย ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์ ประกอบด้วย ประติมากรรมสำริดจากแหล่งโบราณคดีประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นโบราณวัตถุที่อาจได้รับกลับคืนไทยในลำดับถัดไป ทั้งนี้ ไทยต้องให้สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ดำเนินการในทางกฎหมายก่อน จึงจะทราบผลในที่สุด
“ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้หารือถึงการนำทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ไปจัดแสดงในพื้นที่แหล่งที่มา คือศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สะด๊กกอกธม จ.สระแก้ว และศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมศิลปากร ที่มีระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยต่อไป” นายอิทธิพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวงานว่า จากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ในการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ ได้แก่ ทับหลัง 2 รายการ จาก Asian Art Museum เมื่อปี 2564 การสร้างการรับรู้ของคุณค่าโบราณวัตถุที่ได้กลับมาอยู่ในถิ่นกำเนิด แก่ผู้ครอบครองโบราณวัตถุของไทย ทั้งใน และต่างประเทศ จึงได้แจ้งขอส่งมอบโบราณวัตถุที่ครอบครองอยู่ให้ไทย ผ่าน กต.และกรมศิลปากร รวมแล้ว 11 ราย ได้แก่
การรับมอบโบราณวัตถุภายในประเทศ จากนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ และภรรยา เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี จากแหล่งเตา จ.บุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ มูลค่ารวม 82 ล้านบาท เพื่อให้เก็บรักษาเป็นสมบัติของชาติ ขณะนี้กรมศิลปากรได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี ที่ พช.พระนคร และเครื่องปั้นดินเผาลพบุรีเป็นโบราณวัตถุอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-19