“กะเหรี่ยง” เรียกร้องนานาชาติเร่งกดดันรัฐบาล “เมียนมา” หลังละเมิดสัญญาหยุดยิง วอน UN ประกาศเขตห้ามบิน

เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง ออกแถลงการณ์นานาชาติเร่งกดดันรัฐบาลเมียนมา หลังละเมิดสัญญาหยุดยิง ด้านทวิตเตอร์ชาวเมียนมาเรียกร้องต่อ UN ประกาศเขตห้ามบิน เพื่อปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์

จากการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อย กระทั่งทหารเมียนมาโจมตีทางอากาศในเมืองเลเกก่อ รัฐกะเหรี่ยง กลางดึก จนชาวบ้านต้องหนีตายข้ามมาฝั่งไทย และหลบซ่อนอยู่ตามแนวชายแดน

เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนสำหรับชาวบ้านกว่า 10,000 คน ที่หนีภัยจากการโจมตีของทหารพม่า ซึ่งขณะนี้ผู้หนีภัยครึ่งหนึ่งได้ข้ามแม่น้ำเมยเข้ามายังประเทศไทยแล้ว

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การโจมตีเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 เพียง 1 วัน หลังจากทหารพม่า 200 นาย บุกโจมตีเมืองเลเก่ก่อ ทางใต้ของเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และจับกุมผู้ต้องสงสัยกว่า 20 คน รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่นั่นตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ที่เป็นกลุ่มติดอาวุธของ KNU พยายามปกป้องผู้คนจากการจับกุมและทรมาน ขณะที่ทหารพม่ายิงปืนใหญ่มากกว่า 100 นัด เข้าไปในเมืองและหมู่บ้านโดยรอบตามอำเภอใจ สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนและทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนีด้วยความหวาดกลัว โดยการโจมตียังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้

กะเหรี่ยงเรียกร้องนานาชาติกดดันเมียนมา กรณีถล่มKNU  วอนUNประกาศเขตห้ามบิน

ทั้งนี้พื้นที่เลเก่ก่อ ก่อตั้งขึ้นในฐานะ “เมืองใหม่” ในปี 2557 ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่าง KNU และกองทัพพม่า โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิ Nippon Foundation ของญี่ปุ่น ความตึงเครียดระหว่าง KNU และกองทัพพม่าเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2564 เมื่อกองทัพพม่าเริ่มโจมตีในเลเก่ก่อ เพื่อค้นหานักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ครั้งแรกของกองทัพพม่าในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ภายใต้กองพลที่ 6 ของ KNU นับตั้งแต่การหยุดยิงในปี 2555
 
แถลงการณ์ระบุว่า ปัจจุบันผู้คนกว่า 10,000 คน จากเลเก่ก่อและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 8 แห่ง กำลังลี้ภัยจากสงคราม ชาวบ้านมากกว่า 5,000 คน กำลังหลบซ่อนอยู่ในชายแดนกะเหรี่ยง และอีก 5,000 คนได้อพยพข้ามแม่น้ำเมยมายังประเทศไทย โดยกองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหารและรถลำเลียงพลหุ้มเกราะจากหน่วยอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง และเครื่องบินรบได้บินผ่านพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีการทิ้งระเบิดทางอากาศในไม่ช้า แผนการรุกโจมตีของกองทัพพม่ากำลังดำเนินไป และชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่นกำลังถูกคุกคาม
 
“เราจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยให้ความคุ้มครองและที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยใหม่เหล่านี้โดยด่วน และอนุญาตให้หน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงและช่วยเหลือพวกเขาได้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือไปยังผู้พลัดถิ่นภายในประเทศซึ่งหลบภัยในรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่อีกฟากหนึ่งของชายแดน” แถลงการณ์ของ KPSN ระบุ

กะเหรี่ยงเรียกร้องนานาชาติกดดันเมียนมา กรณีถล่มKNU  วอนUNประกาศเขตห้ามบิน
กะเหรี่ยงเรียกร้องนานาชาติกดดันเมียนมา กรณีถล่มKNU  วอนUNประกาศเขตห้ามบิน

เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง ระบุด้วยว่า ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีของทหารพม่าครั้งล่าสุดนี้ อันเป็นการละเมิดคำมั่นสัญญาหยุดยิงต่อ KNU และผู้บริจาคสันติภาพจากต่างประเทศ ผู้บริจาคเหล่านี้ควรตัดเงินทุนสำหรับกระบวนการสันติภาพทั่วประเทศที่ล้มเหลวทันที และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนแก่ผู้พลัดถิ่นแทน ควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พลัดถิ่นข้ามพรมแดนผ่านการบริหารของกลุ่มชาติพันธุ์และองค์กรชุมชนท้องถิ่น โดยไม่ต้องแจ้งหรือประสานงานกับกองทัพพม่าซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการส่งมอบความช่วยเหลือ
 
แถลงการณ์ของ KPSN ยังเรียกร้องให้นานาชาติกดดันกองทัพพม่าอย่างเร่งด่วน ดังนี้
     1.ให้ทั่วโลกคว่ำบาตรทางการทหารต่อกองทัพพม่า รวมถึงการสนับสนุนด้านอาวุธและอากาศยาน
     2. กำหนดเป้าหมายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ
     3. ปฏิเสธความชอบธรรมของกองทัพพม่าโดยไม่ลงนามในข้อตกลงใด ๆ เกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านการพัฒนา
     4. ให้ทหารพม่ารับผิดชอบในการก่ออาชญากรรม และขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

กะเหรี่ยงเรียกร้องนานาชาติกดดันเมียนมา กรณีถล่มKNU  วอนUNประกาศเขตห้ามบิน

นอกจากนี้ในทวิตเตอร์ของชาวเมียนมา ยังมีการเรียกร้องต่อ UN ให้ประกาศ No Fly Zone มาตรการกำหนดเขตห้ามเครื่องบิน บินผ่านเหนือเมียนมา เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จากการโจมตีของทหารเมียนมา

(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Salween Press)