ครม.วันนี้ เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ ขยายความร่วมมือไฟฟ้าไทย-ลาว เพิ่มกำลังการผลิตอีก 1,500 เมกะวัตต์ มุ่งซื้อขายพลังงานสะอาดในภูมิภาค
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (1 มีนาคม 2565) ว่า ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย และ สปป.ลาว โดยให้ความสำคัญกับการซื้อขายพลังงานสะอาดในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศในรูปแบบต่างๆ
สำหรับขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากปริมาณกำลังผลิตเดิม 9,000 เมกะวัตต์ รวมปริมาณกำลังผลิตเป็น 10,500 เมกะวัตต์ เพื่อขายพลังงานไฟฟ้าให้กับไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อขายไฟฟ้า สำหรับขอบเขตความร่วมมือในด้านอื่นๆ อาทิ
1. การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาร่วมกันในรายละเอียดเชิงเทคนิค
2. พัฒนาไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงความร้อน พัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและระบบขายปลีกไฟฟ้าใน สปป.ลาว
3. จัดสรรทรัพยากรน้ำ รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอน
4. พิจารณาการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบสายส่งเดิมกับประเทศที่สาม
ทั้งนี้ การขยายกรอบดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางพลังงาน ที่กำหนดให้การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศประเทศใดประเทศหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 13 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่าด้วยว่า ที่ผ่านมา ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 4 ครั้ง ปัจจุบันประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าหรือลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป.ลาว แล้ว 5,935 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจ ฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2559 มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือ 3,065 เมกะวัตต์ การขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือ 4,565 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดว่าจะเพียงพอต่อการจัดหาพลังงานสะอาดที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)