ยานสำรวจดวงอาทิตย์ของนาซา เข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมส่งข้อมูลและรูปมากมายกลับมายังโลก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยานสำรวจ ‘พาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ (Parker Solar Probe) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา สร้างประวัติศาสตร์เป็นยานอวกาศลำแรกที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ หรือชั้น ‘โคโรนา’ (Corona) ได้สำเร็จ
ยานพาร์คเกอร์สัมผัสดวงอาทิตย์สำเร็จเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่นาซาเพิ่งออกมายืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 15 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยนอกจากมันจะสามารถเก็บข้อมูลสำคัญจากสภาพรอยตัวได้แล้ว มันยังถ่ายรูปเอาไว้มากมายระหว่างการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศครั้งนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์นำมาร้อยเรียงกันกลายเป็นวิดีโอที่แสดงให้เห็นกระแสของอนุภาคพลังงานสูงในระยะใกล้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แถลงการณ์ของนาซาระบุว่า ยานพาร์คเกอร์ฯ เข้าสู่ดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศจุดหนึ่งที่เรียกว่า ‘pseudostreamer’ ซึ่งมีสภาพเหมือนเดินทางเข้าสู่ตาของพายุ คือบรรยากาศสงบ, อนุภาคเคลื่อนที่ช้า และจำนวนกระแสอนุภาคแม่เหล็กที่เคลื่อนตัวเป็นรูปซิกแซกที่เรียกว่า ‘สวิตช์แบ็ก’ (switchback) ก็ลดน้อยลง ต่างจากปกติที่ยานจะถูกกระหน่ำด้วยอนุภาคต่างๆ ที่พบในลมสุริยะ (solar wind)
“เราเห็นหลักฐานของการอยู่ในโคโรนาจากข้อมูลสนามแม่เหล็ก, ข้อมูลลมสุริยะ และภาพแสงสีขาวที่เห็นได้ด้วยตา” ศ.นัวร์ ราฟฟี นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ พาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ จากห้องทดลองแอพพลายฟิสิกส์มหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮ็อปกินส์กล่าว
ที่มา : futurism