ค่าแรงเย้ายวน! “ผีน้อย” พยายามลักลอบเข้าเกาหลี ทำงานผิดกฎหมายต่อเนื่อง

  • พบผีน้อย พยายามลักลอบ เข้าเกาหลี ทำงานผิดกฎหมายต่อเนื่อง ล่าสุด เกาหลีใต้ปฏิเสธคนไทยเข้าประเทศกว่า 5 พันคน
  • เตือนนายหน้าเถื่อนหลอกเหยื่อไปทำงานเกาหลีใต้ สุดท้ายสูญเงิน พร้อมแนะช่องทางไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย
  • ส่องค่าแรงขั้นต่ำเกาหลีใต้ 2566 ชั่วโมงละ 9,620 วอน หรือประมาณ 55,064 บาทต่อเดือน

หลังจากเกาหลีใต้ได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวต่างแพ็กกระเป๋าเดินทางไปเกาหลีใต้กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทย ขณะเดียวกันปัญหา “ผีน้อย” หรือกลุ่มคนไทยที่ลักลอบเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยผิดกฎหมาย ก็มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญคือ ค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ ที่มากกว่าไทย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกับความเสี่ยงต่างๆ เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

และจากการลักลอบของ ผีน้อย ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้ทางการเกาหลีใต้ปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีของคนไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง (คนไทยขอเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ประมาณ 10,000 คน ถูกปฏิเสธแล้ว 5,000 คน)

มาตรการสกัด “ผีน้อย” ลอบเข้าเกาหลีผิดกฎหมาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ตนมิได้นิ่งนอนใจ กระทรวงแรงงานมีด่านตรวจคนหางานทั่วประเทศถึง 25 ด่าน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการกรมการจัดหางานตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างเข้มงวด ใน 2 ด่านที่คนหางานมักเดินทางผ่านด่านไปทำงาน คือด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมือง ที่ในปี 2565 มีการระงับการเดินทางผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 328 คน และย้ำเตือนให้ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินคดีผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

โดยปัจจุบันได้มีการขยายผล จับกุม ดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 112 ราย เป็นการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 158 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 12,758,210 บาท พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังและเข้มงวดกับการดำเนินการใน 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการด้านการป้องกัน มาตรการด้านการปราบปราม และมาตรการด้านรณรงค์ประชาสัมพันธ์

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้าใจพี่น้องแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อเจรจาขอโควตางานเกษตรตามฤดูกาลกับเมืองต่างๆ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้พี่น้องคนไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ปรับปรุงร่าง MOU ให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ขอให้คนหางานทุกคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการลักลอบเข้าประเทศเพื่อทำงานอย่างไม่ถูกต้องของคนเพียงบางส่วน นอกจากทำให้คนไทยทั้งหมดเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในการท่องเที่ยวหรือทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงจนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ด้วย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการใน 3 มาตรการเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ได้แก่

  •  มาตรการด้านการป้องกัน โดยจัดอบรม/สร้างความเข้าใจกับคนหางานผู้ถูกระงับการเดินทาง ผู้นำชุมชน บุคคล/นิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการไปทำงานต่างประเทศ และตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทจัดหางานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางาน
  • มาตรการด้านการปราบปราม ตรวจสอบ ติดตามผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน และดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • มาตรการด้านประชาสัมพันธ์ โดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้คนหางานและผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อควรระวังก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

แนะ 5 วิธีทำงานต่างประเทศแบบถูกต้อง 

1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง
2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง
3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ
4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ
5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางานก่อนเดินทางทุกครั้ง และต้องเดินทางออกไปทำงานโดยผ่านด่านตรวจคนหางานที่ประจำอยู่ ณ ท่าอากาศยาน

เตือน “นายหน้าเถื่อน” หลอกเหยื่อพาทำงานเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีคนไทยถูกนายหน้าเถื่อนหลอกว่าจะพาไปทำงานที่เกาหลีอีกหลายราย โดนนายหน้าเถื่อนจะมีพฤติการณ์ไม่ต่างกันคือ โฆษณาชวนเชื่อผ่านเพจเฟซบุ๊ก และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการลงรูปภาพคนไทยที่ได้ไปทำงานที่เกาหลีใต้ โดยอ้างว่าเป็นผู้ที่ใช้บริการกับทางเอเจนซี่ และเดินทางไปทำงานเกาหลีสำเร็จ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถเดินทางไปทำงานตามที่ตกลงไว้ได้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียหายสูญเงินตั้งแต่ 15,000 บาท ถึงประมาณ 100,000 บาท

โดยทางกรมการจัดหางานได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทาง และตรวจสอบสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เมื่อมีการโพสต์ข้อความชักชวนคนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 

ทั้งนี้ หากพบว่า ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่  3 ปี-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 101 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 136 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 11,566,340 บาท

ค่าจ้างขั้นต่ำ เกาหลีใต้ 2566

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เปิดเผย ค่าแรงขั้นต่ำปี 2566 ชั่วโมงละ 9,620 วอน คิดเป็นค่าจ้างรายเดือน 2,010,580 วอน (เมื่อทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือทำงานเดือนละ 209 ชั่วโมง)

ค่าแรง 1 ชั่วโมง 9,620 วอน หรือประมาณ 263 บาท

ค่าแรง 1 วัน 76,960 วอน (ทำงาน 8 ชม./วัน)  หรือประมาณ 2,107 บาท

ค่าแรง 1 เดือน 2,010,580 วอน (ทำงาน 40 ชม./สัปดาห์ รวมเบี้ยเลี้ยงวันหยุด) หรือประมาณ 55,064 บาท

หมายเหตุ

1. มติจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565
2. รอประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงแรงงาน และการจ้างงานในช่วงเดือนสิงหาคม 2565

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟฟิก : Anon Chantanant