ค้นพบ “มด” พันธุ์ใหม่ครั้งแรกในไทย อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร
กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ รายงานการค้นพบ มด Diacamma assamense ครั้งแรกในประเทศไทย การค้นพบครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยนักวิจัยกลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ โดย น.ส.เนตรนภา โพธิ์ศรีทอง นักกีฏวิทยาปฏิบัติการ และ ดร.แก้วกวิกา รัตนจันทร์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ ร่วมกับ ดร.วียะวัฒย์ ใจตรง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รายงานการพบมด Diacamma assamense Forel, 1897 ครั้งแรกในประเทศไทย
โดยมดชนิดนี้ มีขนาดลำตัวยาว 10-11 มม. สีดำ หัว อก เอว และท้องปล้องแรกมีสันร่องคล้ายลายนิ้วมือ ส่วนเอวยาวเป็นแท่ง ด้านบนของเอวมีหนามแหลม 1 คู่ มีบทบาทในระบบนิเวศเป็นตัวห้ำ (แมลงที่กินแมลงชนิดอื่น ๆ เป็นอาหาร และจะกินเหยื่อได้หลายตัว จนกว่าจะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิต) กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร
สำหรับมด Diacamma assamense ถือเป็นชนิดที่ 6 ของสกุลนี้ ที่มีรายงานพบในประเทศไทย โดยค้นพบที่ป่าเบญจพรรณ อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร โดยปกติมดชนิดนี้ จะมีเขตการแพร่กระจายในพื้นที่ อินเดียถึงออสเตรเลีย