จับตา! “โอมิครอน BA.2” ฉายา “โอมิครอนล่องหน” พบผู้ติดเชื้อ 74 ประเทศทั่วโลก เดนมาร์กตายพุ่ง!

  • นักวิทย์ทั่วโลกกังวลมากขึ้น กำลังเฝ้าจับตา ‘โอมิครอน BA.2’ ฉายา ‘โอมิครอนล่องหน’ หลังพบแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว พบผู้ติดเชื้อใน 74 ประเทศทั่วโลก และมีอย่างน้อย 10 ประเทศที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว
  • องค์การอนามัยโลกรายงาน โอมิครอน BA.2 ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโอมิครอน ‘ตัวแม่’ สูงถึง 30% ขณะที่ข้อมูลจากเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่โอมิครอน BA.2 กลายเป็นสายพันธุ์หลักแพร่ระบาดในประเทศ พบจำนวนผู้เสียชีวิตกำลังพุ่ง
  • ผลการวิจัยยังพบว่า นอกจาก โอมิครอน BA.2 สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกายจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งภูมิคุ้มกันจากที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว โอมิครอน BA.2 ยังสามารถก๊อบปี้ เพิ่มจำนวนเซลล์ได้เร็วกว่าโอมิครอน ‘ตัวแม่’ และยังทำให้เกิดเซลล์ติดกันเป็นก้อนได้เก่งกว่า ทำให้ปอดเสียหาย ถูกทำลายได้มากกว่าด้วย

ณ นาทีนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ฉายา ‘โอมิครอนล่องหน’ ด้วยความกังวลกันมากกว่าเดิม หลังมีผลงานวิจัยเริ่มทยอยไขปริศนาเกี่ยวกับโอมิครอน BA.2 ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ 

โดยเฉพาะผลงานการศึกษาวิจัยในห้องแล็บที่ญี่ปุ่นที่พบว่า นอกจากโอมิครอน BA.2 จะแพร่ระบาดติดเชื้อเร็วกว่าโอมิครอน ‘ตัวแม่’ BA.1 แล้ว ดูเหมือนโอมิครอน BA.2 อาจทำให้ป่วยหนักกว่าตัวแม่ แถมยังมีอาการป่วยรุนแรงพอๆ กับ โควิดสายพันธุ์ร้ายก่อนหน้า รวมทั้งสายพันธุ์ เดลตา อีกด้วย

ที่สำคัญ สาเหตุที่ทำให้ โอมิครอน BA.2 กำลังกลายเป็นโควิด-19 ‘ดาวร้าย’ ตัวใหม่ที่นักวิทย์ต้องจับตา เพราะ ‘มันกำลังมา’ พบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทั่วโลก!!

ติดเชื้อง่ายกว่าโอมิครอน ‘ตัวแม่’ 30% พบแล้วใน 74 ประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข่าวถึงสถานการณ์ระบาดของโอมิครอน BA.2 ประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเชื้อโอมิครอน BA.2 แพร่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโอมิครอน ‘ตัวแม่’ 30%

ความเก่งกาจของโอมิครอนล่องหน BA.2 ที่แพร่ติดต่อง่ายขึ้น ทำให้ขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 74 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2 แล้ว ถึง 47 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐในประเทศ ขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) คาดว่ามีผู้ติดเชื้อ BA.2 ในสหรัฐอเมริกาแล้วประมาณ 4%

ตอนนี้ มีอย่างน้อย 10 ประเทศที่โอมิครอน BA.2 กลายเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่เข้ามาพิฆาตปราบโอมิครอนตัวแม่ ไปแล้วเรียบร้อย โดย 10 ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ บังกลาเทศ, บรูไน, จีน, เดนมาร์ก, กวม, อินเดีย, มอนเตเนโกร, ปากีสถาน และฟิลิปปินส์

น่าวิตก พบคนป่วยหนักและเสียชีวิตในเดนมาร์กพุ่ง

เรื่องที่น่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความร้ายกาจของโอมิครอน BA.2 ที่ผลวิจัยจากห้องแล็บในญี่ปุ่นพบว่ามันอาจทำให้ป่วยรุนแรงกว่าโอมิครอนตัวแม่ ก็คือถึงแม้ โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ที่ระบาดติดเชื้อเร็วจนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งแบบทะลุทะลวง ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งใน สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้นั้น แต่ต่อมา พบว่ามีผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตใน 3 ประเทศนี้ลดลง ซึ่งทำให้ชาวโลกรู้สึกเบาใจขึ้นว่าโควิดโอมิครอน ไม่ได้เป็นเชื้อโควิด-19 จอมดุ ที่ทำให้ป่วยหนักจนเสียชีวิตสูงเหมือนกับโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

ทว่าตามรายงานประจำสัปดาห์ล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่า จากข้อมูลของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่โอมิครอน BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ กลับกำลังพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น!!

กลายพันธุ์สูงจนพัฒนาความร้ายกาจมากขึ้น

ผลการศึกษาใหม่ในญี่ปุ่นที่ทดลองกับหนูในห้องแล็บพบว่า โอมิครอน BA.2 สามารถคัดลอกหรือก๊อบปี้ตัวเองเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่า BA.1 อีกทั้งยังเก่งมากกว่าโอมิครอนตัวแม่ ในการทำให้เซลล์เกาะติดกัน ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสจับกันเป็นก้อนใหญ่มากขึ้น ที่เรียกว่า syncytia

ที่นักวิจัยกังวลก็คือ การจับตัวกันเป็นก้อนใหญ่ของไวรัสโอมิครอน BA.2 ทำให้มันกลายเป็น ‘โรงงานผลิต ‘เซลล์ไวรัสได้มากขึ้น โดยความเก่งกาจ ในเรื่องนี้ นักวิทย์เคยพบในสายพันธุ์เดลตามาแล้ว ซึ่งคาดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาปอดถูกทำลายเกิดการอักเสบมาก

นักวิจัยในญี่ปุ่นยังพบว่า เมื่อใส่เชื้อโอมิครอน BA.2 และ BA.1 ในหนูแฮมสเตอร์ พบว่าหนูที่ติดเชื้อ BA.2 มีอาการป่วยหนักกว่าและการทำงานของปอดแย่ลงมากกว่าหนูที่ติดเชื้อ BA.1 เพราะปอดถูกทำลาย เกิดการอักเสบมากกว่า

หลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเก่ง

โอมิครอน BA.2 คล้ายกับโอมิครอนตัวแม่ที่ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกายจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่โอมิครอน BA.2 หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งกว่า จนได้ฉายา ‘โอมิครอนล่องหน’

จากผลการวิจัย ยังพบว่า โอมิครอน BA.2 สามารถทะลุทะลวงแอนติบอดีในเลือดจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ รวมทั้งการรอดพ้นจากแอนติบอดีในคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหน้า ทั้งสายพันธุ์อัลฟา และเดลตา นอกจากนั้น BA.2 ยังเกือบจะต้านการรักษาโดยใช้ยา ‘โมโนโคลนอล แอนติบอดี’ ได้อย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นความหวัง เมื่อนักวิจัยพบว่าแอนติบอดีในเลือดของคนที่เพิ่งติดเชื้อโอมิครอน ดูเหมือนสามารถต้านโอมิครอน BA.2 ได้ โดยเฉพาะ คนที่ติดเชื้อโอมิครอนคนนั้นเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

เรียกว่า จากผลงานการวิจัยบ่งชี้ออกมาในทิศทางเดียวกันที่ว่า ‘โอมิครอนล่องหน BA.2′ สามารถแพร่ระบาดติดเชื้อง่ายกว่าโอมิครอน’ตัวแม่’ และสิ่งที่นักวิจัยกำลังเฝ้าจับตาด้วยความกังวลในขณะนี้ ก็คือ โอมิครอน BA.2 จะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์