“ชวน” เดินหน้าชน “ทักษิณ” พิสูจน์ความจริง “กรือเซะ-ตากใบ” ชนวนเหตุร้ายใต้รุนแรง มอบ “ราเมศ” สู้คดี ย้ำต้องไม่ให้ขาดอายุความ ชี้น่าติดตาม เพราะเหตุการณ์ในสมัยนั้นจะถูกยกขึ้นมาชำแหละอีกครั้ง
วันที่ 26 ต.ค. 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จากการที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ทนายความแจ้งความดำเนินคดี นายชวน หลีกภัย จากเหตุการณ์วันที่ 28 ต.ค. 2555 เมื่อครั้งที่ นายชวน ไปบรรยายในงานโรงเรียนการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ มีการพูดถึงกระบวนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อครั้งนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดความผิดพลาด นายทักษิณ จึงมอบอำนาจให้ทนายความแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนมีการนัดหมายเวลา แต่เนื่องจากมีเวลาไม่ตรงกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งคดีเงียบหายไปจนทุกฝ่ายคิดว่าคดียุติไปแล้ว แต่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวยังไม่ยุติ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการก็เห็นควรสั่งฟ้องเช่นกัน
นายราเมศ ระบุต่อไปว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนว่า คดีดังกล่าวจะหมดอายุความวันที่ 28 ต.ค. 2565 และให้ไปพบพนักงานอัยการในวันที่ 25 ต.ค. 2565 เพื่อนำตัวส่งพนักงานอัยการเพื่อส่งตัวฟ้องศาล เวลาที่เหลือมีแค่ 3 วันก็จะหมดอายุความ (อายุความคดีนี้ 10 ปี) ความหมายคือคดีนี้จะยุติด้วยเหตุหมดอายุความในวันที่ 28 ต.ค.นี้ และจะไม่สามารถดำเนินคดีกับนายชวน ได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาได้รับโทรศัพท์จาก นายชวน สอบถามถึงเรื่องคดีดังกล่าว โดยสาระสำคัญหลักการที่ นายชวน มีการย้ำอย่างชัดเจนว่า “ราเมศอย่าให้คดีขาดอายุความ องค์กรตำรวจ องค์กรอัยการจะเสียหายได้ จะต้องยึดหลักในการเคารพกฎหมาย ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ผมพร้อมสู้คดี”
จึงเป็นที่มาของวันที่ 25 ต.ค. 2565 ที่ตนในฐานะทนายความ ดำเนินการประสานทุกฝ่ายเพื่อเข้าพบพนักงานอัยการส่งตัวฟ้องศาล พิมพ์ลายนิ้วมือ เดินทางไปพบพนักงานอัยการ และไปศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อให้พนักงานอัยการได้นำตัวไปฟ้องต่อศาล และทำการประกันตัว จากการที่เหลือเวลาเพียง 3 วัน ที่จะขาดอายุความมีคนแนะนำว่าให้ดึงเวลาเพื่อให้ขาดอายุความคดีจะได้จบไป แต่ที่นายชวน ไม่เลือกเส้นทางดังกล่าว ยังคงยึดมั่นในหลักการความถูกต้อง เป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม นายราเมศ ระบุในตอนท้ายด้วยว่า ในส่วนของเนื้อหาคดีขออนุญาตไม่กล่าวถึง แต่รับประกันว่าน่าติดตามชมไม่น้อยกว่าคดียุบพรรค และคดีทุจริตจำนำข้าว เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่กรือเซะ เหตุการณ์ที่ตากใบ เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์จากการปราบปรามยาเสพติด จะถูกยกขึ้นมาชำแหละอีกรอบหนึ่งผ่านคดีนี้อย่างแน่นอน.