ชาวกานาหวาดผวา! “เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก” ระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย

  • ชาวกานาต้องหวาดผวากันทั้งประเทศ หลังกระทรวงสาธารณสุขกานาแถลงเกิดการระบาดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กเป็นครั้งแรก และมีผู้เสียชีวิต 2 รายแรกของประเทศ หลังจากก่อนหน้า เคยเกิดการระบาดในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา
  • เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในแฟมิลี หรือ ‘วงศ์’ เดียวกันกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่จัดเป็นเชื้อไวรัสมรณะ มีอัตราตายสูงถึง 88%
  • อาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กเกิดกะทันหัน หลังเชื้อฟักตัว 2-21 วัน ในผู้ป่วยที่เสียชีวิต เป็นเพราะเลือดออกในร่างกายมากและเกิดภาวะช็อก ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาเฉพาะ ได้แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus) กำลังถูกจับตาและเฝ้าระวังด้วยความกังวลกันอีกครั้ง หลังจากกระทรวงสาธารณสุขของกานา ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก แถลงยืนยันเมื่อ 18 ก.ค. 2565 ว่าพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก 2 รายแรกในประเทศ ขณะที่การระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กในกานา ทำให้ขณะนี้ มีผู้ถูกกักตัวเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง จำนวน 98 ราย

เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก
เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก


ไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus disease) คืออะไร?

ตามรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า โรคไวรัสมาร์เบิร์ก เป็นโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรง ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus) 

สำหรับโรคไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก อาจยังเป็นโรคไข้เลือดออกที่คนไทยไม่ค่อยจะคุ้นชื่อกันเท่าใดนัก แต่ถ้าบอกว่าเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก มีความร้ายแรงพอๆ กับเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) เพราะเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกัน เชื้อไวรัสมาร์เบิร์กจัดอยู่ใน Family (แฟมิลี) หรือ ‘วงศ์’ เดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในอัตราสูงถึง 88% ก็คงพอจะทำให้นึกภาพความน่ากลัวของโรคนี้ได้เข้าใจมากขึ้น

เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก พบครั้งแรกที่เมืองมาร์เบิร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี 2510 (จึงเป็นที่มาของชื่อ) จากนั้นได้เกิดการระบาดในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ของเยอรมนี ตามด้วยกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย อย่างต่อเนื่องภายในปีเดียว ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 31 ราย และเสียชีวิต 7 ศพ

การระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กเกิดจากลิงเขียวแอฟริกา (African green monkeys) ที่นำเข้าจากประเทศยูกันดา และจากนั้นเชื้อไวรัสมรณะได้เริ่มติดต่อผ่านสัตว์ชนิดอื่นๆ นับแต่นั้น เป็นต้นมา

ไวรัสมาร์เบิร์กแพร่กระจาย ติดเชื้อในคนได้อย่างไร?

การติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในมนุษย์ ส่วนใหญ่แพร่กระจายติดเชื้อกันในกลุ่มคนที่อยู่ในถ้ำ หรือเหมืองที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นเวลานาน เนื่องจากไวรัสมาร์เบิร์กมีค้างคาว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสมาร์เบิร์กสามารถแพร่ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด, อวัยวะ หรือสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสพื้นผิวและวัตถุที่มีสารคัดหลั่งติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กปนเปื้อนอยู่

อาการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กเป็นอย่างไร?

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า อาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก เริ่มด้วยเกิดอาการป่วยอย่างกะทันหัน หลังจากเชื้อไวรัสมรณะมาร์เบิร์กได้ฟักตัวอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-21 วัน

อาการป่วยกะทันหัน ได้แก่ มีไข้, หนาวสั่น, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

CDC ยังระบุด้วยว่า อาการป่วยของไวรัสมาร์เบิร์กหลังจากนั้นคือ มีผื่นนูนแดงบริเวณหน้าอก หลังและท้อง จากนั้นผู้ป่วยจะเกิดอาการคลื่นไส้, อาเจียน, เจ็บหน้าอก, เจ็บคอ, ปวดท้อง, ท้องเสีย

ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้ป่วยอาจพัฒนาไปสู่ระยะเลือดออกภายใน 7 วัน และเป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งโดยปกติแล้วเกิดจากเลือดออก และมักเกิดเลือดออกจากหลายตำแหน่งในร่างกาย

ระหว่างอาการป่วยที่มีหลายระยะนั้น ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยอาจแสดงอาการสับสน, หงุดหงิด โกรธง่ายและก้าวร้าว

สำหรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมาร์เบิร์กรายที่เสียชีวิต สามารถจะเสียชีวิตในช่วงระหว่าง 8-9 วัน หลังเริ่มมีอาการ โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากและเกิดภาวะช็อก

ที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสมาร์เบิร์ก ทำให้มีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ตั้งแต่ 24-88 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาเฉพาะ

ขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาเฉพาะสำหรับโรคไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก แต่ถึงอย่างไร การรักษาอาการป่วยของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก เป็นการรักษาแบบประคับประคอง และเป็นการรักษาตามอาการป่วย

โดยการรักษาแบบประคับประคอง ยังรวมถึงการคืนน้ำด้วยของเหลวในช่องปากและทางหลอดเลือดดำ ในขณะที่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าวิธีการรักษาที่สกัดมาจากเลือด และการบำบัดด้วยยา และภูมิภูมิคุ้มกันกำลังอยู่ระหว่างการประเมิน

ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กถูกพิจารณาว่ามีความเสี่ยงอันตรายทางชีวภาพที่รุนแรง และการทดสอบในห้องแล็บจำเป็นต้องปฏิบัติภายใต้สภาวะกักกันทางชีวภาพสูงสุด


มีวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กหรือไม่?

ตามรายงานของ GAVI องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี ระบุว่า การป้องกันการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการติดเชื้อที่เข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนติดต่อกัน ขณะเดียวกันการหลีกเลี่ยงการกินหรือจัดการกับเนื้อสัตว์ป่าก็มีความสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดจากสัตว์มาสู่คน

นอกจากนั้นการยกระดับการเตือนคนในชุมชน และเหล่าบุคลากรการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถนำไปสู่การป้องกันการแพร่กระจายที่ดีขึ้น

‘กานา’ ผวาพบการระบาดครั้งแรก

สำหรับการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กในกานาครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก และทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายแรก โดยกระทรวงสาธารณสุขกานาได้เรียกร้องให้ชาวกานาหลีกเลี่ยงการเข้าไปในเหมืองและถ้ำที่มีค้างคาวผลไม้ยึดครองอยู่ นอกจากน้ันเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหารก็ควรทำให้สุกก่อนบริโภค เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กที่มีค้างคาวผลไม้เป็นพาหะของไวรัสมรณะชนิดนี้

สำหรับการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กในกานานั้น ถือเป็นประเทศที่สองในแอฟริกาตะวันตก หลังจากกานาได้ตรวจเจอเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กเมื่อปีที่แล้ว

ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ของแอฟริกานั้น ก่อนหน้านี้ เคยเกิดการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กในยูกันดา, เคนยา, แองโกลา, แอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

การระบาดของเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในแองโกลา เมื่อปี 2548 ถือเป็นการระบาดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดกว่า 200 ศพเลยทีเดียว.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : Aljazeera, BBCCNN