“วันเข้าพรรษา” ปี 2566 นี้คือวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่ง “เข้าพรรษา” เป็นช่วงที่ “พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ประจำวัดวาอาราม” ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ “มีวัดจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา” เพราะเป็น “วัดร้าง”
สำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุถึงผลสำรวจ “วัดร้างทั่วไทย” ไว้ว่า…พบว่า มี “วัดร้าง” ทั่วประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 5,388 แห่ง!! โดยที่ยะลา เลย สตูล สระแก้ว เป็นจังหวัดที่ไม่มีวัดร้าง ขณะที่ จังหวัดที่มีวัดร้างมากที่สุดคือเชียงใหม่ มีอยู่ 912 แห่ง ซึ่งการที่ไทยมีวัดร้างจำนวนมาก ก็มีปุจฉา
เหตุไฉน?? “จำนวนวัดร้างมีมากมาย”…
ปรากฏการณ์เช่นนี้ “สะท้อนถึงอะไร??”
กับกรณี “วัดร้าง” นี้ ทางวิชาการก็เคยศึกษา โดย พัฒน์ธนธร ตันติเวชยานนท์ บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้เคยศึกษาเรื่องนี้ และมีบทวิเคราะห์เผยแพร่ใน วารสาร มจร การพัฒนาสังคม ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2559 ในชื่อบทความ “พุทธวิธีพัฒนาวัดร้างในประเทศไทยให้เป็นวัดที่รุ่งเรือง” ซึ่งบางช่วงบางตอนได้มีการสะท้อนไว้ว่า… ประเทศไทยมีแนวโน้ม “วัดที่ถูกทิ้งร้าง” เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 75 วัด ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ “น่าเป็นห่วงและอันตรายต่อพระพุทธศาสนาในไทย” อย่างมาก!!โดย “สาเหตุของวัดร้าง” ก็มีปัจจัยหลัก ๆ เกิดจากการ“ขาดพระสงฆ์อยู่ดูแล”
ในบทความ-บทวิเคราะห์ระบุไว้อีกว่า… ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวัดร้างนี้เช่นกัน อาทิ การพยายามยกฐานะวัดร้างให้เป็นวัดใหม่ที่มีพระสงฆ์ แต่ก็พบอุปสรรคและข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่องเช่นกัน อาทิ… การออกเอกสารสิทธิทับซ้อนที่วัด การบริหารจัดการที่ผิดพลาด และการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนในพื้นที่ ที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในพื้นที่ เป็นต้น ตลอดจนอาจเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น… ไม่สามารถหาพระสงฆ์ที่มีความรู้และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาประจำที่วัดซึ่งปัญหาในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่หลาย ๆ พื้นที่ต่างก็ประสบ
นี่เป็นการวิเคราะห์ “สาเหตุ-ปัจจัย”
ที่มีส่วนสำคัญ “ทำให้มีวัดร้างเยอะ!!”
อย่างไรก็ดี กับ “ปรากฏการณ์วัดร้าง” นี้ ในอีกมุมก็อาจใช้เป็น “ตัวชี้วัดสังคม” ได้เช่นกัน ซึ่งก็มีประโยคที่ว่า… “ยิ่งมีวัดร้าง…ตะรางยิ่งแออัด” โดยที่กรณีนี้ “ฉายภาพสังคมเสื่อมโทรม” เพราะ “วัด” นั้นเป็น“สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเคารพนับถือของชาวพุทธ เพื่อปฏิบัติธรรม เพื่อจะละความชั่ว และประกอบความดี” นั่นเอง โดยมุมมองเรื่องนี้ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว นนทบุรี ท่านก็ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้น่าสนใจ…
ทั้งนี้ พระพยอม ท่านได้สะท้อนเรื่องนี้โดยได้ระบุว่า…กรณีวัดร้างที่ตอนนี้สถิติสูงมากนั้น มีสาเหตุหรือปัจจัยจากการที่ได้ “มีการวางกฎเคร่งครัดมากขึ้น” โดยตอนนี้ใครที่จะเข้ามาบวชก็จะต้องถูกตรวจสอบประวัติหลายขั้นตอน ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ “คนได้บวชเป็นพระลดลง” อาทิ สมัครบวช 10 คน แต่ได้บวชแค่ 3 คน เป็นต้น เนื่องจากที่เหลือไม่ได้บวชเพราะผิดเงื่อนไขหรือไม่ผ่านคุณสมบัติ นอกจากนี้ คตินิยมเรื่อง “บวชก่อนเบียด” บวชก่อนแต่งงาน ก็เปลี่ยนไป ทำให้สมัยนี้มีชาวพุทธชายที่มีครอบครัวเร็วมากขึ้น ก็มีผลทำให้ผู้ที่เข้าบวชเป็นพระจึงลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ก็อีกสาเหตุที่…
ส่งผลทำให้ “ร้างพระ” ที่จะไป “อยู่วัด”
จน “ทำให้ในยุคนี้เกิดวัดร้างเยอะขึ้น”
ทางเจ้าอาวาสวัดสวนแก้วท่านยังระบุเพิ่มเติมว่า… การสแกนคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าบวชเป็นพระนั้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ศาสนาไม่เสื่อม ไม่มัวหมอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อกฎระเบียบขั้นตอนการคัดกรองคนที่จะเข้าบวชนั้นเข้มขึ้นเยอะขึ้น กรณีนี้ก็อาจจะส่งผลทำให้ “จำนวนพระลดลง” สวนทางกับ “จำนวนวัดเพิ่มขึ้น” ก็เลยทำให้เกิดปัญหา “มีวัด…แต่ไม่มีพระ” ดังเช่นที่เห็นและเป็นอยู่ในเวลานี้ โดยปัจจุบันนี้จำนวนพระสงฆ์และสามเณรลดลงต่อเนื่อง ซึ่ง ขณะนี้น่าจะมีพระและเณรรวม ๆ กันแล้วราว ๆ 2 แสนรูป เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนวัดที่มีอยู่ 4 หมื่นกว่าแห่ง ทั่วไทย
ทั้งนี้ พระพยอม กัลยาโณ ท่านยังสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ด้วยว่า… ผลจากโลกสมัยใหม่ทำให้คติจารีตในอดีตหลายเรื่องเปลี่ยนไป รวมถึงเรื่อง “บวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่” ซึ่ง คนรุ่นใหม่มีวิธีคิดแตกต่างจากรุ่นก่อน เป็นวิธีคิดที่กลับกันคือมีส่วนที่คิดว่าไม่บวชจะทดแทนบุญคุณได้มากกว่า เพราะสามารถทำงานหาเงินส่งให้พ่อแม่ได้ ส่วนประโยคที่ว่า “วัดกำลังร้าง คุกตะรางกำลังเจริญ” นั้นก็เป็น “ความจริงที่ต้องยอมรับ” ซึ่งก็ “สะท้อนสภาพสังคมที่ศีลธรรมถดถอย”
“การจะแก้ปัญหาวัดร้าง คงจะยากมากหากปล่อยให้พระให้ชุมชนทำกันเอง ต้องฝากถึงรัฐบาลว่า…ก็ช่วยดูนโยบายเรื่องการบวชด้วยว่าควรต้องทำอย่างไรจึงจะรักษาประเพณีไว้ได้ แต่ก็อย่าบวชแบบจิ้มดูดกันเลย แค่ 7 วัน 15 วัน เปลืองข้าวสุกเปล่า ๆ อย่างน้อยก็ให้บวชอยู่สักพรรษา และอยากให้รัฐบาลโปรโมทว่า…ใครลำบากแต่อยากบวช รัฐบาลจะบวชให้ฟรี ก็น่าจะช่วยให้สถานการณ์วัดฟื้นคืนได้” …ทาง พระราชธรรมนิเทศ ท่านเสนอแนะไว้
ปัญหา “วัดร้าง” ในยุคนี้ “นับวันเพิ่มขึ้น”
กรณีนี้ “ไม่เพียงเป็นเรื่องวัด-เรื่องพระ”
นี่ยัง “เป็นดัชนีชี้สภาพสังคมไทยด้วย”