“แบม-ตะวัน” 2 ผู้ต้องหาคดี ม.112 ทรุดหนัก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง อาเจียน ราชทัณฑ์ หามส่งรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ โฆษกย้ำ คำนึงความปลอดภัยผู้ป่วยเป็นสำคัญ แม้ปฏิเสธยารักษา
กรณี น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม และ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน สองนักกิจกรรมและเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเองต่อศาล เพื่อประท้วงที่ก่อนหน้านี้ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกัน น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ และนายโสภณ ฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบัน ทำให้ทั้งแบมและตะวันถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำ อีกทั้งยังได้ประกาศยืนหยัดอดข้าวอดน้ำในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง จนร่างกายทรุด ทำให้กรมราชทัณฑ์เร่งส่งตัวทั้งคู่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และคอยสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง แม้ทั้งคู่จะยังคงปฏิเสธยาและสารน้ำทางหลอดเลือด ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่ทั้งสองคนได้งดน้ำและอาหารตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา และถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นั้น แม้ทั้งคู่ยืนยันปฏิเสธการรักษาและแจ้งความประสงค์ที่จะรับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอก อย่างไรก็ตาม อาการล่าสุดของทั้งคู่ในวันนี้ ได้รับรายงานจากนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า น.ส.ทานตะวันและ น.ส.อรวรรณ มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง คลื่นไส้ ปัสสาวะได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาการทั้งหมดเกิดจากการอดน้ำและอาหารต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นวันที่ 7 และยังคงปฏิเสธยาและสารน้ำทางหลอดเลือด ซึ่งทั้งสองคนได้แจ้งว่ารู้สึกไม่ไหว แต่ยังคงยืนยันที่จะอดอาหารและน้ำ รวมทั้งปฏิเสธรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
นายสิทธิ เผยต่อว่า ดังนั้นเพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จึงได้จัดเตรียมเอกสาร เตรียมความพร้อมในการส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ต่อมาในเวลา 17.41 น. ได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่จะรับตัว น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมส่งตัวทั้งสองไปรับการรักษาต่อ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงได้ควบคุม ดูแล โดยจัดทีมแพทย์พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) คอยดูแลใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขังที่อดอาหาร (Standard Operating Procedure for fasting Prisoners Measures : SOPs)