- ทำความรู้จัก “นรกอเวจี” นรกขุมที่ลึกที่สุด ที่อยู่ของคนทำกรรมหนัก ตามคติความเชื่อชาวพุทธ จากวรรณคดีศาสนาไตรภูมิพระร่วง
- ภาพความน่ากลัวของนรก คือ หลักจิตวิทยา ที่ผู้ปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม
- ความเชื่อของนรกกับสังคมไทยในปัจจุบัน และการส่งอิทธิพลไตรภูมิพระร่วงกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ
“ขอให้ตกนรกอเวจีปอยเปต แสนล้านภพแสนล้านชาติ” ประโยคยอดฮิตที่เราได้ยินบ่อยในช่วงนี้ แน่นอนว่าหากพูดถึงนรก หลายคนก็พอจะนึกภาพออกกันบ้าง เพราะเป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีมุมมอง หรือให้นิยามนรกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคลและศาสนาที่ตนนับถือ
แต่สำหรับ “อเวจี” นั้น เป็นชื่อนรกขุมที่ลึกที่สุด ตามคติความเชื่อของชาวพุทธที่ปรากฏในวรรณคดีไตรภูมิพระร่วง ดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าผู้ที่ทำบาปตอนยังเป็นมนุษย์ เมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องไปเกิดในนรก และถูกลงโทษตามกรรมที่ทำไว้
ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีศาสนาเรื่องแรกของไทย
ไตรภูมิพระร่วง หรือไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีทางศาสนา ที่แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย ผู้แต่งคือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อเทศน์ถวายพระมารดา และรวบรวมพระอภิธรรมแบ่งปันประชาชน โดยรวบรวมเนื้อหาจากคัมภีร์ต่างๆ ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาปลูกฝังเรื่องบาป บุญ กรรม และผลของกรรม ซึ่งเนื้อเรื่องจะกล่าวถึง ภพภูมิทั้ง 3 ภพ ได้แก่
- กามภูมิ ดินแดนที่เกี่ยวกับความรัก โลภ โกรธ หลง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อบายภูมิ (นรกภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ ติรัจฉานภูมิ) และสุคติภูมิ (สวรรค์)
- รูปภูมิ ดินแดนของพรหม
- อรูปภูมิ ดินแดนของพรหมไร้รูป
นรกคืออะไร
ตามคติไตรภูมิพระร่วง นรกจะอยู่ “กามภูมิ” ในส่วนของอบายภูมิ ที่อยู่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในอดีตเคยทำบาปด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเสียชีวิต จะลงไปเกิดเป็นสัตว์นรก เพื่อใช้กรรม อยู่ภายใต้แผ่นดินโลกมนุษย์ มีทั้งหมด 8 ขุมใหญ่ ไล่ระดับความลึกลงไปเรื่อยๆ ดังนี้
- สัญชีพนรก นรกไม่มีวันแตกดับ ที่อยู่สำหรับผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น จะต้องถูกทรมานจากคมอาวุธจนตาย จากนั้นจะมี “ลมกรรม” พัดให้คืนชีพมารับโทษเรื่อยๆ วนเวียนอยู่เป็นเวลา 500 ปี นรก ซึ่ง 1 วันนรก เท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์
- กาฬสุตตนรก นรกเส้นด้ายดำ สำหรับคนที่ทำร้ายผู้มีพระคุณ หรือทำลายชีวิตสัตว์ จะถูกตีด้วยด้ายดำ จนเป็นตามร่างกาย จากนั้นจะถูกเฉือนอาวุธตามรอยแผล เป็นเวลา 1,000 ปีนรก โดย 1 วันนรก เท่ากับ 36 ล้านปีมนุษย์
- สังฆาฏนรก นรกบดขยี้ ที่อยู่สำหรับผู้ไร้ความเมตตา ชื่นชอบการทารุณกรรม จะถูกตีด้วยค้อนเหล็ก และบดทับด้วยลูกไฟกับภูเขาเหล็ก เป็นเวลา 2,000 ปีนรก โดย 1 วันนรก เท่ากับ 14 โกฏิกับอีก 5 ล้านปีมนุษย์
- โรรุวนรก นรกเสียงคร่ำครวญ ที่อยู่สำหรับคนโลภ ฉ้อโกง จะถูกลงโทษให้นอนคว่ำหน้า หัว มือ และเท้าจมอยู่ในดอกบัวเหล็ก ที่มีไฟลุกท่วม ร้องครวญครางด้วยความทุกข์ เป็นเวลา 4,000 ปี โดย 1 วันของนรกขุมนี้เท่ากับ 23 โกฏิกับอีก 4 ล้านปีโลกมนุษย์
- มหาโรรุวนรก นรกเสียงคร่ำครวญอย่างยิ่ง สำหรับคนจิตใจโหดเหี้ยม ทำความชั่วจิตอาฆาตพยาบาท ดอกบัวเหล็กของนรกขุมนี้ จะเพิ่มคมตามกลีบ และจะต้องจมอยู่ในดอกบัวเหล็กทั้งตัว อายุของสัตว์นรกคือ 8,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 921 โกฏิกับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์
- ตาปนรก นรกแห่งความร้อนรุ่ม สำหรับคนบาปที่เต็มไปกิเลส จะถูกหลาวเหล็กไฟเสียบ จากนั้นสุนัขนรกฉุดกระชากลงมากิน เป็นเวลา 16,000 ปี โดย 1 วันนรกเท่ากับ 1,842 โกฏิกับอีก 12 ล้านปีโลกมนุษย์
- มหาตาปนรก นรกแห่งความร้อนรุ่มอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เคยฆ่าคน และฆ่าสัตว์เป็นหมู่มาก ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่น ต้องอยู่ในกำแพงและภูเขาเหล็ก ที่เต็มไปด้วยหนามแหลม และมีลมกรดพัดพาร่างไปโดนหนามเสียบ อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ ครึ่งกัลป์
- อเวจีนรก นรกอันแสนสาหัสไร้ปรานี เป็นนรกที่ทั้งลึกและกว้างใหญ่ที่สุด สำหรับผู้ทำกรรมหนัก ได้แก่ ฆ่าบุพการี ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด และยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก
อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ 1 กัลป์ จะถูกล้อมด้วยกำแพงเหล็กที่เปลวไฟลุกท่วม สัตว์นรกจะถูกเพลิงเผาผลาญด้วยอิริยาบถต่าง ๆ ตามกรรมของตน ในห้องสี่เหลี่ยมและเหล็กเสียบทะลุร่างตรึงให้แน่นิ่งไม่สามารถขยับร่างกายได้
นรกใหญ่ทั้ง 8 ขุม จะถูกล้อมรอบด้วยนรกบ่าว (สุสันทนรก) อีก 16 ขุม นอกจากนี้ยังมีนรกเย็น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นรกโลกันต์” ตั้งอยู่นอกกำแพงขอบจักรวาล ไม่มีแสงสว่าง สัตว์นรกที่อยู่ในนั้น จะมีเล็บมือและเท้ายาวเหมือนค้างคาว เกาะกำแพงจักรวาลและกินกันเอง
1 กัลป์ นานแค่ไหน
ในไตรภูมิกถา บรรยายเอาไว้ว่า เปรียบเหมือนภูเขาเทือกหนึ่ง สูง 1 โยชน์ กว้างโดยรอบ 3 โยชน์ เมื่อถึง 100 ปี ถึงจะมีเทวดาองค์หนึ่งนำผ้าทิพย์ ที่บางอ่อนราวควันไฟ มากวาดภูเขา แต่ละครั้งที่เทพยดากวาดภูเขาให้ราบเรียบลงเป็นแผ่นดิน ก็เรียกว่าสิ้นกัลป์หนึ่ง
การใช้ศาสนาจัดระเบียบสังคม
จะพบว่า การบรรยายนรก ตามคติไตรภูมิพระร่วง เต็มไปด้วยภาพแห่งความโหดร้าย รุนแรงและน่ากลัว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการทำชั่ว ทำให้ผู้ที่ได้รับรู้ เกิดความเกรงกลัวต่อบาป และไม่กล้าทำความผิด ประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรม
การปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดเจน ถือเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองใช้ควบคุมคนในสังคม โดยใช้ความงามทางสุนทรียะมากล่อมเกลา และหล่อหลอมให้ประชาชน ดำเนินชีวิตไปตามจุดประสงค์ ควบคุมความประพฤติของคน โดยไม่ต้องใช้บทลงโทษ นับได้ว่าเป็นการใช้ศาสนามาจัดระเบียบสังคม
นรกกับความเชื่อในปัจจุบัน
แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ทำให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความรู้อื่นๆ ก็ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในแต่ละสังคมก็มีกฎหมายไว้ลงโทษผู้กระทำความผิดชัดเจน แม้บางคนอาจจะมองว่าเป็นความเชื่อเรื่องการตกนรก คือความเชื่อจากศาสนาที่ผ่านการปรุงแต่ง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ การเกิดใหม่ บาปบุญ หรือแม้แต่เรื่องนรกสวรรค์ก็ยังคงอยู่ จนเรียกได้ว่าฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเชื่อของแต่ละบุคคล
อิทธิพลของไตรภูมิส่งผลต่อสังคม
สังคมไทยมีความเชื่อ และเคารพนับถือศาสนาที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่การกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ได้ส่งอิทธิพลต่อสังคมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะไตรภูมิกถา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปิน นำเรื่องราวไปจินตนาการ และต่อยอดผลงาน ทั้งด้านทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็น วัด วัง ดังนี้
- จิตรกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพุทธสถานและวัดวาอาราม เช่น ที่เสาในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร, วัดสระเกศ, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดดุสิตาราม ฯลฯ
- ประติมากรรม งานประติมากรรมที่รับอิทธิพลมักเป็นประติมากรรมตกแต่งอาคารของพุทธสถาน และปราสาทราชวัง อาทิ รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประดับหน้าบันพระอุโบสถ รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ เช่น ครุฑ นาค อสูรแบก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปั้นรูปสัตว์นรก ที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี
- สถาปัตยกรรม แนวคิดเรื่องไตรภูมิเป็นแนวคิดสาคัญต่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยที่ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งคติการวางผังของวัด การสร้างพระเจดีย์ พระปรางค์ พระเมรุมาศ เป็นต้น
- เป็นแรงบันดาลใจให้กวีนำไปสร้างสรรค์ผลงานในแนวเดียวกัน เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าโลกมหาราช
- มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ตัวละคร และฉากในวรรณคดีเรื่องต่างๆ เช่น ป่าหิมพานต์ ในขุนช้างขุนแผน แม่น้ำสีทันดร ในกากีคำกลอน เขาพระสุเมรุ และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ
ผู้เขียน : PpsFoam
กราฟิก : Anon Chantanant
ที่มา กรมศิลปากร.(2565) วรรณคดีแห่งชาติ เล่ม 1