“นาซา” เผยภาพจากกล้อง “เจมส์ เวบบ์” ออกมาเพิ่มเติม แสดงให้เห็นทั้ง กลุ่มดาว-เนบิวลา สุดงดงามตระการตา

นาซาเผยภาพถ่ายสีจากกล้องโทรทัศน์ เจมส์ เวบบ์ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ออกมาเพิ่มเติม แสดงให้เห็นทั้ง กลุ่มดาว และเนบิวลาอันงดงามตระการตา

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า องค์กรการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา เผยแพร่ภาพถ่ายอวกาศเบื้องลึกจากกล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เวบบ์ ที่ได้ชื่อว่าทรงพลังที่สุดในโลกออกมาเพิ่มเติมในวันอังคารที่ 12 ก.ค. 2565 โดยเป็นภาพถ่ายที่ถูกทำให้เป็นสีด้วยกล้องอินฟราเรดอาณุภาพสูง ทำให้ได้ภาพสีที่ละเอียดและชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา

SMACS 0723

SMACS 0723

ภาพแรกที่ได้รับการเปิดเผยออกมาคือภาพของ กระจุกกาแล็กซี่ “เอสเอ็มเอซีเอส 0723” (SMACS 0723) ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักดาราศาสตร์ว่า “เลนส์ความโน้มถ่วง” (gravitational lens) เพราะมวลของมันหักเหและขยายแสงของวัตถุที่อยู่ไกลออกไปมาก สิ่งที่เห็นเหมือนเส้นโค้งสีแดงคือ กาแล็กซี ที่อยู่ห่างออกไปไกลทั้งในแง่ของระยะทางและห้วงเวลา แสงบางเส้นใช้เวลาถึง 1.3 หมื่นล้านปีกว่าจะเดินทางมาถึงเรา และเรื่องประหลาดคือ เส้นโค้งสีแดงที่เห็นอยู่คนละมุมกัน บางภาพเป็นวัตถุเดียวกัน แต่แสงของพวกมันกลับถูกหักเหผ่าน SMACS 0723 ไปมากกว่า 1 เส้นทาง

เนบิวลาวงแหวนใต้

เนบิวลาวงแหวนใต้

เนบิวลาวงแหวนใต้ (Southern Ring) เคยถูกถ่ายได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล รุ่นพี่ของกล้องเจมส์ เวบบ์ มาก่อน มันคือวงแหวนของก๊าซและฝุ่นที่ขยายตัวออกไป ซึ่งถูกทำให้สว่างขึ้นโดย ดาวฤกษ์ที่กำลังจะตาย ที่อยู่ตรงกลาง โดยเมื่อดาวฤกษ์แก่ตัวลงมันจะเปลี่ยนวิธีสร้างพลังงาน และปล่อยพื้นผิวชั้นนอกออกไป จากนั้น เมื่อดาวฤกษ์กลับมาร้อนมากๆ อีกครั้ง มันจะกระตุ้นพลังงานทั้งหมด จนสสารที่มันเคยมีถูกสลัดทิ้ง

เนบิวลาวงแหวนใต้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ครึ่งปีแสง (1 ปีแสงเท่ากับ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,000 ปีแสง โครงสร้างแบบนี้ถูกเรียกว่า “เนบิวลาดาวเคราะห์” (planetary nebula) แม้จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์เลย แต่มันเกิดจากการตั้งชื่ออย่างไม่ถูกต้องด้วยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ยุคแรกที่ไม่ละเอียดเหมือนปัจจุบัน

กาแล็กซีแฝด 5 ของสเตฟาน

กาแล็กซีแฝด 5 ของสเตฟาน

กาแล็กซีแฝด 5 ของสเตฟาน (Stephan’s Quintet) อยู่ในกลุ่มดาวเพกาซัส ห่างจากโลกถึง 290 ล้านปีแสง มีชื่อเสียงในฐานะกลุ่มกาแล็กซีที่เบียดชิดกันกลุ่มแรกที่มนุษย์ค้นพบ โดย 4 จาก 5 กาแล็กซีในกลุ่มนี้โคจรเฉียดใกล้กันน่ากลัว โดยภาพใหม่จากกล้อง เจมส์ เวบบ์ ซึ่งถ่ายโดยอุปกรณ์ตรวจจับรังสีย่านใกลิอินฟราเรดและย่านกลางอินฟราเรดร่วมกัน ทำให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า กาแล็กซีด้านบนสุดมีหลุมดำมวลยิ่งยวดกำลังกลืนมวลสารอยู่ ทำให้มันสว่างกว่าดวงอาทิตย์ 4 หมื่นล้านเท่า

คารินา เนบิวลา

คารินา เนบิวลา

คารินา เนบิวลา (Carina Nebula) เป็นเป้าหมายในการถ่ายภาพของกล่อง ฮับเบิล อยู่แล้ว แต่กล้อง เจมส์ เวบบ์ ทำให้เห็นรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยเนบิวลาทั้งหลายถูกเรียกอีกอย่างว่า เนอร์เซอรีของดวงดาว ประกอบด้วยกลุ่มเมฆแก๊สและฝุ่นซึ่งจะก่อร่างเป็นดาวดวงใหม่ และ คารินา เนบิวลา เป็นหนึ่งในเนบิวลาที่ใหญ่และสว่างที่สุดบนท้องฟ้า อยู่ห่างจากโลกปประมาณ 7,600 ปีแสง

ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์ ทำให้เห็นกลุ่มแก๊ซและฝุ่นของเนบิวลา ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “หน้าผาของจักรวาล” (cosmic cliff) ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องการก่อตัวของดวงดาว