นายกฯ ยินดี ดิจิทัลไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดด ติดอันดับ 44 จาก 110 ประเทศที่มีคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุด ความเร็วเป็นอันดับที่ 22 ของโลก พร้อมเดินตามแผนการปฏิรูป ไปสู่การพลิกโฉมประเทศไทย
วันที่ 27 ก.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการวิจัยดัชนีคุณภาพชีวิตดิจิทัลของไทย ยินดีที่ไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากการวิจัยของบริษัท Surfshark บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระบุว่า “ไทย” ติดอันดับ 44 จาก 110 ประเทศที่มีคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดในโลก ในดัชนีคุณภาพชีวิตดิจิทัล 2021 (Digital Quality of Life Index: DQL) ในดัชนีคุณภาพอินเทอร์เน็ต พิจารณาจากความเร็วและความน่าเชื่อถือของการเชื่อมต่อเน็ตบรอดแบนด์และมือถือ และเป็นลำดับที่ 4 ในภูมิภาคอาเซียน ลำดับที่ 11 ในเอเชีย
การจัดอันดับดังกล่าวครอบคลุม 90% ของประชากรโลก หรือมากกว่า 6.9 พันล้านคน โดยประเมินประเทศต่างๆ ตามหลักด้านสุขภาพดิจิทัลขั้นพื้นฐาน 5 เสาหลัก ได้แก่ คุณภาพอินเทอร์เน็ต ความสามารถในการจ่ายอินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นองค์ประกอบหลักและอีก 14 ตัวบ่งชี้สนับสนุน โดยประเทศไทยมีคุณภาพอินเทอร์เน็ตเป็นเลิศ (อันดับที่ 19) แต่แสดงผลลัพธ์ที่ค่อนข้างต่ำในด้านความสามารถในการจ่ายอินเทอร์เน็ต (อันดับที่ 58) โครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ (อันดับที่ 46) ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (อันดับที่ 63) และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อันดับที่ 51)
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นหนึ่งในการปรับปรุงที่สำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับ DQL 2020 โดยกระโดดขึ้นมา 19 อันดับจากอันดับที่ 63 มาอยู่ที่อันดับที่ 44 โดดเด่นในด้านคุณภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความเร็วมือถือของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 81% อยู่ที่ 40.79 Mbps เป็นอันดับที่ 22 ของโลก ในขณะเดียวกันความเร็วบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 29% อยู่ที่ 189.54 Mbps อยู่ในเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ 5 ประเทศแรกของโลก ได้แก่ เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลฯ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ปลอดภัย และมีบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูงที่สามารถเข้าถึงและพร้อมใช้แก่ประชาชนที่ครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่บ้าน พื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการบริการจัดการภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการในการให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งถือเป็นการเดินตาม 1 ใน 5 ด้านแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อไปสู่การพลิกโฉมประเทศไทยตาม (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อก้าวเดินต่อไปในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า.